ในภาษาไทยมีการใช้คำยืมจากภาษาต่างประเทศจากหลากหลายภาษา หนึ่งในภาษาที่มีอิทธิพลมากที่สุดจะเป็นคำที่ยืมมาจากภาษาบาลี, สันสกฤต และภาษาเขมร ในบทความนี้จึงจะมาสรุปลักษณะของคำยืมจากแต่ละภาษาว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง? ตามไปสำรวจพร้อมกันในบทความเลย!
คำยืม คืออะไร?
คำยืม คือ คำที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศมาใช้ในภาษาของตนเอง โดยทุกภาษาล้วนมีการใช้คำยืมทั้งสิ้น
คาดว่าสาเหตุการยืมคำจากภาษาต่างประเทศมาใช้ มีดังนี้
- ประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านหลากหลายประเทศ ทำให้มีการรับคำจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ เช่น ภาษาเขมร
- ประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายกับนานาประเทศ จึงได้รับอิทธิพลจากภาษาต่างประเทศมาด้วย เช่น ภาษาโปรตุเกส, ภาษาจีน เป็นต้น
- อิทธิพลจากการรับศาสนาต่าง ๆ เข้ามา ทำให้ได้นำคำศัพท์จากศาสนานั้น ๆ มาใช้ด้วย เช่น ภาษาบาลี, ภาษาสันสกฤต เป็นต้น
- ความเจริญด้านการศึกษา เช่น ภาษาอังกฤษ, ภาษาญี่ปุ่น, ภาษาเยอรมัน เป็นต้น
คำยืมจากภาษาบาลีและสันสกฤต
คำยืมจากภาษาบาลีและสันสกฤต มีการใช้แพร่หลายในภาษาไทยดังนี้
- ใช้ในศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ฮินดู เช่น ธรรม, นิพพาน, ศาสดา, ทุกข์ เป็นต้น
- ใช้ในการตั้งชื่อและนามสกุล เช่น ประภัสสร, วรรณพร, อานันท์ เป็นต้น
- ใช้ในศัพท์วรรณคดี เช่น รามเกียรติ์, รามายณะ เป็นต้น
- ใช้ในคำราชาศัพท์และศัพท์สุภาพทั่วไป เช่น พระโอษฐ์, พระบรมราโชวาท, ศีรษะ เป็นต้น
- ใช้ในศัพท์ทางวิชาการ เช่น ประชามติ, เอกภาพ, ปัจเจก เป็นต้น
ข้อสังเกตคำยืมจากภาษาบาลีและสันสกฤต มีดังนี้
คำภาษาบาลี |
คำภาษาสันสกฤต |
ไม่ใช้พยัญชนะ “ศ” และ “ษ” |
ใช้พยัญชนะ “ศ” และ “ษ” เช่น ปักษา, ปักษี, ศาสนา, อักษร |
ไม่ใช้ “รร” แต่นิยมใช้ “ริ” เช่น จริยา, ภริยา, กริยา |
ใช้ “รร” เช่น จรรยา, ภรรยา, บรรพต, ครรภ์ |
นิยมใช้พยัญชนะ 2 ตัวติดกัน เช่น บุคคล, ปัญญา, วิญญาณ |
ใช้คำที่พยัญชนะข้ามวรรค ไม่ติดกัน เช่น จันทรา, มนตรี, วิทยา, มัธยม |
ไม่ใช้ “ฤ” “ฤๅ” |
ใช้ตัว “ฤ” “ฤๅ” เช่น ฤๅษี, ฤทัย, กฤษณา, คฤหาสน์ |
คำยืมจากภาษาเขมร
คำยืมจากภาษาเขมร มีการใช้แพร่หลายในภาษาไทยดังนี้
- ใช้ในคำราชาศัพท์ เช่น เสวย, ถวาย, โปรด, เสด็จ, ดำเนิน, ประชวร, บรรทม, เพลา เป็นต้น
- ใช้ในคำสามัญทั่วไป เช่น กระบือ, กระบาล, โตนด, จมูก, เสนียด, ถนน, จังหวัด, ตำบล เป็นต้น
- คำเขมรที่เป็นคำโดดคล้ายกับคำไทย เช่น แข = ดวงจันทร์, เมิล = มอง, ศก = ผม เป็นต้น
ข้อสังเกตคำยืมจากภาษาเขมร มีดังนี้
- มักเป็นคำที่สะกดด้วยพยัญชนะ “จ”, “ญ”, “ร”, “ล” เช่น เสด็จ, อำนาจ, บำเพ็ญ, จราจร, บันดาล
- มักเป็นคำควบกล้ำ เช่น ปรับ, ขลัง, ไกร, ปรุง, ปรอง
- มักขึ้นต้นด้วยคำที่ใช้ บัง, บัน, บรร, บำ นำหน้า เช่น บังคับ, บังคม, บันได, บันดาล, บำบัด, บำเหน็จ
- มักขึ้นต้นด้วยคำว่า กำ, ดำ, ตำ, จำ, ชำ, สำ, บำ, รำ เช่น
- กำ = กำแพง, กำไร, กำจัด, กำจร, กำเนิด
- ดำ = ดำเนิน, ดำริ, ดำรง
- ตำ = ตำนาน, ตำรวจ, ตำบล, ตำรา, ตำหนัก
- จำ = จำนำ, จำนอง, จำหน่าย, จำแนก
- ชำ = ชำนิ, ชำนาญ, ชำระ, ชำร่วย, ชำรุด
- สำ = สำราญ, สำรวย, สำเริง, สำเนา, สำเภา
- บำ = บำเรอ, บำนาญ, บำเหน็จ, บำรุง
- รำ = รำคาญ, รำไร
- มักเป็นคำที่ใช้อักษรนำ เช่น สนุก, สนาน, สมัคร, สมาน, เฉลียว
- มักใช้เป็นคำราชาศัพท์ เช่น ผนวช, เสด็จ, บรรทม, สรวล, โปรด
- เป็นคำแผลง เช่น ครบ > คำรบ, ขดาน > กระดาน, รำ > ระบำ, ตรวจ > ตำรวจ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ และช่วยให้น้อง ๆ เข้าใจเรื่อง “คำไทยที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตและภาษาเขมร” มากขึ้นนะ
ส่วนใครที่กำลังมองหาที่ติวภาษาไทย หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็มาปรึกษาพี่ TUTOR VIP ได้นะ พี่ ๆ ยินดีให้คำปรึกษาเสมอ
บทความต่อไป TUTOR VIP จะมาแนะนำอะไรอีกนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ
ด้วยความร่วมมือของ TUTOR-VIP X Clearnote Thailand
บทความล่าสุด
ภาษาไทย
ปูพื้นฐานความรู้ภาษาไทยเรื่อง คำราชาศัพท์
ภาษาไทย
ลักษณะคำไทยที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตและภาษาเขมร
วิทยาศาสตร์
พอลิเมอร์ คืออะไร? สรุปรวมให้ไว้แล้ว