คำราชาศัพท์ น่าจะเป็นหัวข้อที่หลายคนคุ้นเคยกันดี ในบทความนี้พี่ TUTOR VIP จะมาสรุปแบบกระชับ เพื่อให้น้อง ๆ เข้าใจเรื่องคำราชาศัพท์ได้ดียิ่งขึ้น ตามไปดูในบทความกันเลย
คำราชาศัพท์ คืออะไร?
คำราชาศัพท์ คือ ศัพท์หลวง, ศัพท์ราชการ และหมายรวมถึงคำสุภาพซึ่งนำมาใช้ให้ถูกต้องตามชั้นหรือฐานะของบุคคล บุคคลผู้ที่ต้องใช้ราชาศัพท์พูดด้วยจำแนกเป็น 5 ประเภท คือ
- พระมหากษัตริย์
- พระบรมวงศานุวงศ์
- พระสงฆ์
- ข้าราชการชั้นสูงหรือขุนนาง
- สุภาพชนทั่วไป
โดยในบทความนี้จะพามาดูในส่วนที่มักจะออกข้อสอบนั่นคือ การใช้คำราชาศัพท์ ระดับพระมหากษัตริย์และบรมวงศานุวงศ์ ในหมวดคำนามราชาศัพท์, คำกริยาราชาศัพท์ และคำสรรพนามราชาศัพท์
คำนามราชาศัพท์
คำนามราชาศัพท์ คือ คำที่บัญญัติไว้เพื่อใช้กับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเกิดจากการเติมคำนำหน้าคำศัพท์ ดังนี้
- พระบรมราช, พระบรม , พระราช, พระ จะมีเพียง ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ พระองค์เดียวที่ใช้ได้ ทั้ง 3 คำ
- คำว่า ‘พระราช’ และ ‘พระ’ ใช้กับสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระนางเจ้าฯ, พระบรมราชินี, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
- สุดท้ายคือคำว่า ‘พระ’ ใช้กับ พระบรมวงศานุวงพระองค์อื่น ๆ รองลงมา เท่านั้น
โดยมีหลักเกณฑ์การใช้ ดังนี้
- ใช้คำ “พระบรม” หรือ “พระบรมราช” นำหน้าคำนามที่สำคัญ ซึ่งสมควรจะเชิดชูให้เป็นเกียรติ เช่น พระบรมราชโองการ, พระบรมราชูปถัมภ์, พระบรมมหาราชวัง, พระบรมวงศานุวงศ์
- ใช้คำ “พระราช” นำหน้าคำนามที่ใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์ซึ่งต้องการกล่าวไม่ให้ปนกับพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น พระราชลัญจกร, พระราชประวัติ
- ใช้คำ “พระ” นำหน้าคำนามทั่วไปเพื่อให้แตกต่างจากสามัญชน เช่น พระเก้าอี้, พระตำหนัก
นอกจากนี้เราได้นำตัวอย่างคำราชาศัพท์หมวดร่างกายที่ถือว่าออกข้อสอบบ่อยมาก มาฝากกันด้วย
คำราชาศัพท์หมวดร่างกาย
- พระพักตร์ หมายถึง หน้า
- พระปราง หมายถึง แก้ม
- พระนลาฏ,ลลาฏ หมายถึง หน้าผาก
- พระเนตร/พระจักษุ หมายถึง ดวงตา
- พระนาสิก หมายถึง จมูก
- พระขนง หมายถึง คิ้ว
- พระกรรณ หมายถึง หู
- พระศอ หมายถึง คอ
- พระเศียร หมายถึง ศีรษะ
- พระหนุ หมายถึง คาง
- พระโอษฐ์ หมายถึง ปาก
- พระทนต์ หมายถึง ฟัน
- พระหัตถ์ หมายถึง มือ
- พระพาหา หมายถึง แขน
- พระองคุลี, นิ้วพระหัตถ์ หมายถึง นิ้วมือ
- พระอังคุฐ หมายถึง นิ้วโป้ง
- พระดัชนี หมายถึง นิ้วชี้
- พระมัชฌิมา หมายถึง นิ้วกลาง
- พระอนามิกา หมายถึง นิ้วนาง
- พระกนิษฐา หมายถึง นิ้วก้อย
- พระชานุ หมายถึง เข่า
- พระบาท หมายถึง เท้า
คำกริยาราชาศัพท์
คำกริยาราชาศัพท์ คือ คำราชาศัพท์ที่เป็นกริยา บางคำสามารถเป็นราชาศัพท์ได้ในตัว แต่บางคำต้องเปลี่ยนรูปด้วยการ เติมคำว่า ‘ทรง’ หรือ ‘เสด็จ’ นำหน้าคำกริยาหรือคำนามด้วย
ตัวอย่างคำกริยาราชาศัพท์
- คำกริยาราชาศัพท์ ทรง+กริยาสามัญ เช่น ทรงเล่น, ทรงยินดี, ทรงใช้
- คำกริยาราชาศัพท์ที่บัญญัติขึ้นเฉพาะ เช่น เสวย บรรทม สิ้นพระชนม์
- คำกริยาราชาศัพท์ ทรง+นามสามัญ เช่น ทรงช้าง, ทรงม้า
- คำกริยาราชาศัพท์ที่ใช้ เสด็จนำหน้า เช่น เสด็จไป, เสด็จพระราชสมภพ
- คำกริยาราชาศัพท์ ทรง+นามราชาศัพท์ เช่น ทรงพระประชวร, ทรงพระอักษร
หมายเหตุ: คำว่าทรงเมื่อใช้กับกริยา “มี” และ “เป็น”
- ถ้าคำนามข้างหน้าเป็นราชาศัพท์ ไม่ต้องใช้ทรง ตัวอย่าง เป็นพระราชโอรส, มีพระบรมราชโองการ
- ถ้าคำนามข้างหลังเป็นคำสามัญ ต้องใช้ทรง ตัวอย่าง ทรงเป็นประธาน, ทรงมีทุกข์
คำสรรพนามราชาศัพท์
คำสรรพนามราชาศัพท์ หมายถึง คำสรรพนามแทนชื่อที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์, พระราชาชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยแบ่งใช้ตามลำดับชั้นตามฐานันดรศักดิ์
ยกตัวอย่างคำสรรพนามที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์
- สรรพนามราชาศัพท์ บุรุษที่ 1 เช่น ข้าพระพุทธเจ้า เกล้ากระหม่อม
- สรรพนามราชาศัพท์ บุรุษที่ 2 เช่น ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ใต้ฝ่าพระบาท
- สรรพนามราชาศัพท์ บุรุษที่ 3 เช่น พระองค์ท่าน
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ และช่วยให้น้อง ๆ เข้าใจเรื่อง “คำราชาศัพท์” มากขึ้นนะ
ส่วนใครที่กำลังมองหาที่ติวภาษาไทย หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็มาปรึกษาพี่ TUTOR VIP ได้นะ พี่ ๆ ยินดีให้คำปรึกษาเสมอ
บทความต่อไป TUTOR VIP จะมาแนะนำอะไรอีกนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ
ด้วยความร่วมมือของ TUTOR-VIP X Clearnote Thailand
บทความล่าสุด
ภาษาไทย
ปูพื้นฐานความรู้ภาษาไทยเรื่อง คำราชาศัพท์
ภาษาไทย
ลักษณะคำไทยที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตและภาษาเขมร
วิทยาศาสตร์
พอลิเมอร์ คืออะไร? สรุปรวมให้ไว้แล้ว