“พอลิเมอร์” คืออะไร? และมีความน่าสนใจอย่างไร? บทความนี้ พี่TUTOR VIP สรุปรวมไว้ให้แล้ว ตามไปทำความเข้าใจในบทความพร้อมกันเลย!
พอลิเมอร์ คืออะไร?
พอลิเมอร์ (Polymer) คือ สารที่มีมวลโมเลกุลขนาดใหญ่ มีมวลโมเลกุลตั้งแต่ 10,000 ขึ้นไป ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของสารโมเลกุลขนาดเล็กที่เรียกว่า มอนอเมอร์ (Monomer) เชื่อมต่อกันด้วยพันธะโคเวเลนต์
พอลิเมอร์ สามารถแบ่งประเภทได้ ดังนี้
1.แบ่งตามชนิดของมอนอเมอร์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
-
- ฮอมอพอลิเมอร์ หรือ พอลิเมอร์เอกพันธ์ุ (Homopolymer) คือ พอลิเมอร์ที่ประกอบด้วยมอนอเมอร์ชนิดเดียวกัน เช่น แป้ง (มอนอเมอร์คือกลูโคส), ยางธรรมชาติ (มอนอเมอร์คือไอโซพรีน) เป็นต้น
- โคพอลิเมอร์ หรือ พอลิเมอร์ร่วม (Copolymer) คือ พอลิเมอร์ที่ประกอบด้วยมอนอเมอร์ต่างชนิดกัน เช่น โปรตีน (มอนอเมอร์คือกรดอะมิโนต่างชนิดกัน), ไนลอน (มอนอเมอร์คือกรดอะดิปิกและเฮกซะเอทิลีนไดไดเอมีน) เป็นต้น
2. แบ่งตามลักษณะการเกิด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
-
- พอลิเมอร์ธรรมชาติ (Natural Polymer) คือ พอลิเมอร์ที่พบได้ในธรรมชาติ เช่น แป้ง, ไกลโคเจน, เซลลูโลส (ทั้ง 3 ชนิดนี้มีน้ำตาลกลูโคสเป็นมอนอเมอร์), DNA, RNA (มีนิวคลีโอไทด์เป็นมอนอเมอร์)
- พอลิเมอร์สังเคราะห์ (Synthetic Polymer) คือ พอลิเมอร์ที่เกิดจากการสังเคราะห์โดยมนุษย์ เช่น พอลีเอทิลีน, พอลีโพรพิลีน เป็นต้น ซึ่งจัดอยู่ในจำพวกเม็ดพลาสติกที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อใช้ในการผลิตวัสดุต่าง ๆ เช่น พลาสติกไนลอน (Nylon) เป็นต้น
โครงสร้างและสมบัติของพอลิเมอร์
โครงสร้างของพอลิเมอร์ มี 3 รูปแบบ ประกอบด้วย
1.พอลิเมอร์แบบเส้น (Linear Polymer) คือ พอลิเมอร์ที่เกิดจากมอนอเมอร์สร้างพันธะโคเวเลนต์ต่อกันเป็นโซ่ยาว โดยสายโซ่พอลิเมอร์เรียงชิดติดกันมากกว่าแบบอื่น จึงมีแรงยึดเหนี่ยวต่อกันสูง
- สมบัติของพอลิเมอร์แบบเส้น
- มีความหนาแน่นและจุดหลอมเหลวสูง
- มีความแข็ง เหนียวและขุ่นกว่าโครงสร้างแบบอื่น
- เมื่อได้รับความร้อนจะอ่อนตัว แต่เมื่ออุณหภูมิลดลงจะสามารถแข็งตัวได้อีกครั้ง
- สามารถเปลี่ยนรูปร่างกลับไปมาได้ โดยที่สมบัติของพอลิเมอร์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
2.พอลิเมอร์กิ่งสาขา (Graft Polymer) คือ พอลิเมอร์ที่มีกิ่งแยกออกมาจากโซ่หลัก ซึ่งสามารถเป็นกิ่งสั้นหรือกิ่งยาวก็ได้ ทำให้โซ่หลักเรียงตัวอยู่ห่างกัน
- สมบัติของพอลิเมอร์กิ่งสาขา
- มีความหนาแน่นและจุดหลอมเหลวต่ำ ทำให้ยืดหยุ่นได้น้อย
- เมื่อได้รับความร้อนจะอ่อนตัว แต่เมื่ออุณหภูมิลดลงจะสามารถแข็งตัวได้อีกครั้ง
- สามารถเปลี่ยนรูปร่างกลับไปมาได้ โดยที่สมบัติของพอลิเมอร์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
3.พอลิเมอร์ร่างแห (Cross-link Polymer) คือ พอลิเมอร์ที่เกิดจากการเชื่อมโยงสายโซ่ของพอลิเมอร์แบบเส้นและพอลิเมอร์กิ่งสาขา
- สมบัติของพอลิเมอร์ร่างแห
- มีจุดหลอมเหลวสูง แข็ง เปราะ ไม่ยืดหยุ่น แตกหักได้ง่าย
- เมื่อขึ้นรูปแล้วไม่สามารถหลอมหรือเปลี่ยนรูปร่างได้
ผลิตภัณฑ์จากพอลิเมอร์ในชีวิตประจำวัน
ผลิตภัณฑ์จากพอลิเมอร์ที่สามารถพบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน มีดังนี้
1.พลาสติก (Plastic) คือ พอลิเมอร์สังเคราะห์ที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด แบ่งเป็น 2 รูปแบบตามโครงสร้างโมเลกุล ดังนี้
-
- เทอร์มอพลาสติก (Thermoplastic) คือ พอลิเมอร์ที่มีโมเลกุลยาวอาจเป็นเส้นตรงหรือมีกิ่ง เมื่อได้รับความร้อนจะอ่อนตัว และเมื่ออุณหถูมิลดลงจะแข็งตัว แต่ถ้าให้ความร้อนอีกจะอ่อนตัว และสามารถทำให้กลับเป็นรูปเดิมหรือเปลี่ยนเป็นรูปอื่นได้ โดยที่สมบัติของพลาสติกยังมีคงเดิม ตัวอย่างเช่น พอลิเอทิลีน, พอลิโพรพิลีน, พอลิสไตรีน เป็นต้น
- พลาสติกเทอร์มอเซต (Plastic Thermoset) คือ พอลิเมอร์ที่มีโครงสร้างแบบร่างแห ทนต่อความร้อนและความดันได้ดี หากมีอุณหภูมิสูงมากจะแตกและไหม้เป็นเถ้า เมื่อขึ้นรูปด้วยความร้อนหรือแรงดันแล้ว จะไม่สามารถนำกลับมาขึ้นรูปใหม่ได้อีก ตัวอย่างเช่น พอลิยูรีเทน, พอลิเมลามีนฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นต้น
2.เส้นใย (Fiber) คือ วัสดุที่เป็นเส้นบาง ยาว สามารถยืดออกตามยาวได้ โดยโมเลกุลของเส้นใยมีลักษณะยาว เป็นเส้นตรง และเรียงกันในทิศทางของเส้นใย แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
-
- เส้นใยธรรมชาติ คือ เส้นใยที่ได้จากธรรมชาติ เช่น เส้นใยจากฝ้าย, นุ่น, ปอ, สับปะรด, ขนแกะ, รังไหม เป็นต้น
- เส้นใยสังเคราะห์ คือ เส้นใยที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นโดยมนุษย์ เช่น ดาครอน, ไนลอน-66 เป็นต้น
- เส้นใยกึ่งสังเคราะห์ คือ เส้นใยที่ได้จากการนำเส้นใยธรรมชาติมาปรับปรุงโครงสร้างให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น การนำเซลลูโลสจากพืชมาทำปฏิกิริยากับกรดแอซีติกเข้มข้น จะได้เป็นเซลลูโลสแอซีเตต เป็นต้น
3.อีลาสโตเมอร์ หรือยาง (Elastomer) แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
-
- ยางธรรมชาติ คือ ยางที่พบได้ในธรรมชาติมีมอนอเมอร์ คือ ไอโซพรีน ซึ่งนำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์ เช่น ถุงมือแพทย์, ฟองน้ำสำหรับที่นอน, หมอนยางพารา เป็นต้น
-
- ยางธรรมชาติ มีสมบัติต้านทานต่อแรงดึงสูง ยืดหยุ่นได้ดี ทนต่อการขัดถู ทนน้ำและน้ำมัน แต่ไม่ทนต่อน้ำมันเบนซินและตัวทำละลายอินทรีย์ เมื่ออยู่ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าอุณหภูมิห้องจะมีความแข็งและเปราะ
-
- ยางสังเคราะห์ คือ ยางที่ได้จากการสังเคราะห์สารประกอบไฮโดรคาร์บอน เช่น พอลิบิวทาไดอีน หรือ ยางบีอาร์ นำไปใช้ในการผลิตยางรถยนต์, ยางล้อเครื่องบิน เป็นต้น
-
- ยางสังเคราะห์ มีสมบัติทนทานต่อการขัดถูและการสึกกร่อน มีความยืดหยุ่นแม้อยู่ในอุณหภูมิต่ำ ทนต่อน้ำมันและตัวทำละลายอินทรีย์
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ และช่วยให้น้อง ๆ เข้าใจเรื่อง “พอลิเมอร์” มากขึ้นนะ
ส่วนใครที่กำลังมองหาที่ติวเคมี หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็มาปรึกษาพี่ TUTOR VIP ได้นะ พี่ ๆ ยินดีให้คำปรึกษาเสมอ
บทความต่อไป TUTOR VIP จะมาแนะนำอะไรอีกนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ
ด้วยความร่วมมือของ TUTOR-VIP X Clearnote Thailand
บทความล่าสุด
ภาษาไทย
ปูพื้นฐานความรู้ภาษาไทยเรื่อง คำราชาศัพท์
ภาษาไทย
ลักษณะคำไทยที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตและภาษาเขมร
วิทยาศาสตร์
พอลิเมอร์ คืออะไร? สรุปรวมให้ไว้แล้ว