คำทับศัพท์ น่าจะเป็นเรื่องที่หลายคนคุ้นเคยกันดีในชีวิตประจำวัน แต่ก็ยังมีหลายคำที่แม้จะเป็นคำที่ใช้กันบ่อยแต่คนส่วนใหญ่ยังเขียนไม่ถูกต้อง ในบทความนี้พี่ TUTOR VIP จะมาสรุปแบบกระชับ เพื่อให้น้อง ๆ เข้าใจเรื่องหลักเกณฑ์การทับศัพท์ได้ดียิ่งขึ้น ตามไปดูในบทความกันเลย
คำทับศัพท์ คืออะไร?
คำทับศัพท์ คือ คำที่รับจากภาษาต่างประเทศมาใช้ในภาษาไทย โดยใช้วิธีการถอดอักษรและถ่ายเสียงให้ใกล้เคียงกับภาษาต้นฉบับมากที่สุด
ในภาษาไทยมีการใช้คำทับศัพท์อย่างแพร่หลาย ทั้งจากภาษาอังกฤษ, ภาษาจีน, ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาเยอรมัน, ภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น โดยเฉพาะคำทับศัพท์ที่มาจากภาษาอังกฤษ เช่น เกม, วิดีโอ, อินเทอร์เน็ต, ไวไฟ, เค้ก, ช็อกโกเลต เป็นต้น
ในบทความนี้จะสรุปในส่วนของหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่ทางสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้กำหนดไว้ จะมีหลักเกณฑ์อะไรบ้างไปดูในส่วนถัดไปกันเลย
หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ
หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ มีดังนี้
1. สระ ให้ถอดตามการออกเสียงในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ โดยเทียบเสียงสระในภาษาไทย เช่น ee เทียบได้กับ สระอี, ur เทียบได้กับ สระเออ เป็นต้น
2. พยัญชนะ ให้ถอดเป็นพยัญชนะตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ตัว b ใช้ บ, ตัว ch ใช้ ช เป็นต้น
3. การใช้เครื่องหมายทัณฑฆาต แบ่งเกณ์การใช้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
-
- 3.1 พยัญชนะตัวที่ไม่ออกเสียงในภาษาไทย ให้ใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับไว้ เช่น ฮอร์น (Horn), วินด์เซอร์ (Windsor)
- 3.2 คำหรือพยางค์ที่มีพยัญชนะตามมาหลายตัว ให้ใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตไว้บนพยัญชนะที่ไม่ออกเสียงตัวสุดท้ายแต่เพียงแห่งเดียว เช่น โอค็อตสก์ (Okhotsk), แบเร็นตส์ (Barents)
- 3.3 คำหรือพยางค์ที่มีพยัญชนะไม่ออกเสียงอยู่หน้าตัวสะกด ที่ยังมีพยัญชนะตามหลังมาอีก ให้ตัดพยัญชนะตัวที่อยู่หน้าตัวสะกดออก และใส่เครื่องหมายทันฑฆาตไว้บนพยัญชนะตัวสุดท้าย เช่น เวิลด์ (World), เฟิสต์ (First)
4. การใช้ไม้ไต่คู้ แบ่งเกณ์การใช้เป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
-
- 4.1 เพื่อให้แตกต่างจากคำไทย เช่น ล็อก (log)
- 4.2 เพื่อช่วยให้ผู้อ่านแยกพยางค์ได้ถูกต้อง เช่น โอค็อตสก์ (Okhotsk)
5. การใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์ โดยปกติแล้วการเขียนคำทับศัพท์ไม่จำเป็นต้องใส่วรรณยุกต์ ยกเว้นกรณีที่คำนั้นมีเสียงซ้ำกับคำไทย เช่น โค้ก (Coke), โคม่า (Coma)
6. พยัญชนะซ้อน (Double Letter) คำที่มีพยัญชนะซ้อนเป็นตัวสะกด หากเป็นศัพท์ทั่วไปให้ตัดออกตัวหนึ่ง เช่น ฟุตบอล (Football)
ในกรณีที่เป็นศัพท์วิชาการหรือคำศัพท์เฉพาะจะเก็บพยัญชนะซ้อนเอาไว้ โดยเติมเครื่องหมายทัณฑฆาตไว้ที่ตัวท้าย เช่น เซลล์ (Cell), เจมส์ วัตต์ (James Watt)
7. คำที่ตัวสะกดของพยางค์หน้าออกเสียงเป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ตัวต่อไปด้วย ให้ใช้หลักเกณฑ์ดังนี้
-
- 7.1 ถ้าสระของพยางค์หน้าเป็นเสียงสระอะ เมื่อทับศัพท์ต้องใช้รูปไม้หันอากาศ ให้ซ้อนพยัญชนะตัวสะกดของพยางค์หน้าเข้าอีกตัวหนึ่ง เพื่อเป็นพยัญชนะต้นของพยางค์ต่อไป เช่น คัปเปิล (Couple), ดับเบิล (Double)
- 7.2 ถ้าสระของพยางค์หน้าเป็นเสียงสระอื่นที่ไม่ใช่สระอะ ให้ทับศัพท์ตามรูปพยัญชนะภาษาอังกฤษ โดยไม่ต้องซ้อนพยัญชนะ เช่น แคลิฟอร์เนีย (Califonia), เจเนอรัล (General)
- 7.3 ถ้าเป็นคำที่เกิดจากการเติมปัจจัย เช่น -er, -ing, -ic, -y และการทับศัพท์ตามรูปพยัญชนะภาษาอังกฤษดังข้อ 7.2 อาจทำให้การออกเสียงต่างจากภาษาเดิมมาก จึงให้ซ้อนพยัญชนะตัวสะกดของพยางค์ต้นอีกหนึ่ง เพื่อให้เห็นใกล้เคียงกับภาษาเดิมมากขึ้น เช่น สเวตเตอร์ (Sweater), บุกกิง (Booking)
8. คำประสมที่มีเครื่องหมายยัติภังค์ (Hyphen) ให้ทับศัพท์โดยเขียนติดต่อกันไป เช่น ครอสสติตช์ (cross-stitch)
ยกเว้นในกรณีที่เป็นศัพท์วิชาการหรือคำศัพท์เฉพาะ เช่น โคบอลต์-60 (Cobalt-60), แมกกรอว์-ฮิลล์ (McGraw-Hill) เป็นต้น
9. คำประสมซึ่งในภาษาอังกฤษเขียนแยกกัน เมื่อทับศัพท์ให้เขียนติดกันไป ไม่ต้องแยกคำตามภาษาเดิม เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate), นิวกินี (New Guinea)
10. คำคุณศัพท์ที่มาจากคำนาม ซึ่งมีปัญหาว่าจะทับศัพท์ในรูปคำนามหรือคุณศัพท์นั้นให้ถือหลักเกณฑ์ ดังนี้
-
- 10.1 ถ้าคำคุณศัพท์นั้นมีความหมายเหมือนคำนาม หรือมีความหมายว่า “เป็นของ” หรือ “เป็นเรื่องของ” คำนามนั้น ให้ทับศัพท์ในรูปคำนาม เช่น ประจุอิเล็กตรอน (Electronic Charge), ความยาวโฟกัส (Focal Length)
- 10.2 ถ้าคำคุณศัพท์นั้นมีความหมายว่า “เกี่ยวข้องกับ” หรือ “เกี่ยวเนื่องจาก” คำนามนั้น ให้ทับศัพท์ในรูปคำนามโดยใช้คำประกอบ เชิง, แบบ, อย่าง, ทาง, ชนิด, ระบบ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับความหมาย เช่น การดูดกลืนโดยอะตอม (Atomic Absorption), การแปลงผันกำลังเชิงอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Power Conversion)
- 10.3 ในกรณีที่การทับศัพท์ในรูปคำนามตามข้อ 10.1 และข้อ 10.2 ทำให้เกิดความหมายคลาดเคลื่อนหรือกำกวม ให้ทับศัพท์ในรูปคำคุณศัพท์ เช่น กรดซัลฟิวริก (Sulpuric Acid), ระบบเมตริก (Metric System)
11. คำคุณศัพม์ที่มาจากชื่อบุคคล ให้ทับศัพท์ตามชื่อบุคคลนั้น ๆ โดยใช้คำประกอบของ แบบ, ระบบ ฯลฯ โดยอิงตามความหมาย เช่น เรขาคณิตระบบยุคลิค (Euclidean geometry), ฟังก์ชันแบบออยเลอร์ (Eulerian function)
12. คำคุณศัพท์เกี่ยวกับชนชาติต่าง ๆ ให้ทับศัพท์ในรูปคำนามเป็นชื่อประเทศ เช่น
คนสวีเดน (Swedish people), ระบำฮังการี (Hungarian dance)
13. การวางตำแหน่งคำคุณศัพท์ในคำทับศัพท์ ให้ถือหลักเกณฑ์ดังนี้
-
- 13.1 คำคุณศัพท์ที่ประกอบคำนามที่เป็นภาษาไทย หรือเป็นคำทับศัพท์ แต่มีการใช้ในภาษาไทยจนถือว่าเป็นคำไทยแล้ว ให้วางคำคุณศัพท์ไว้หลังคำนาม เช่น รังสีคอสมิก (Cosmic Ray), ตันกรอส (Gross Ton)
- 13.2 หากทั้งคำคุณศัพท์และคำนามเป็นคำทับศัพท์ที่ยังไม่ถือว่าเป็นคำไทย ให้ทับศัพท์ทับตามศัพท์เดิม เช่น อะดรีนัลคอร์เทกซ์ (Adrenal Cortex), อาร์กติกเซอร์เคิล (Arctic Circle)
- 13.3 หากต้องการเน้นว่าคำนามนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตหลายชนิดและคำคุณศัพท์ที่ประกอบเป็นชนิดหนึ่งของคำนามนั้น อาจทับศัพท์โดยใช้คำประกอบ แบบ, ชนิด, ระบบ ฯลฯ มาแทรกไว้ระหว่างคำนามและคำคุณศัพท์ เช่น เมทริกซ์แบบนอร์แมล (Normal Matrix), พลาสติกชนิดเทอร์โมเซตติง (Thermoseting Plastic)
14. คำย่อ ให้เขียนชื่อตัวอักษรนั้น ๆ ลงเป็นภาษาไทย โดยไม่ต้องใส่จุดและไม่ต้องเว้นช่องไฟ เช่น บีบีซี (BBC), เอฟบีไอ (F.B.I)
15. คำทับศัพท์ที่ผูกขึ้นจากตัวย่อ ซึ่งอ่านออกเสียงได้เสมือนคำหนึ่ง มิได้ออกเสียงเรียงตามตัวอักษร ให้เขียนตามเสียงที่ออกและไม่ต้องใส่จุด เช่น ยูซิส (USIS), อาเซียน (ASEAN)
ตัวย่อชื่อบุคคล ให้เขียนโดยใส่จุด และเว้นช่องไฟระหว่างชื่อกับนามสกุล เช่น ดี.เอ็น. สมิท (D.N. Smith), จี.เอช.ดี. โคลด์ (G.H.D. Cold)
20 คำทับศัพท์ที่มักเขียนผิด
1. ไลก์ (Like) มักเขียนผิดเป็น ไลค์
2. กราฟิก (Graphic) มักเขียนผิดเป็น กราฟฟิก/กราฟฟิค
3. อีเมล (E-mail) มักเขียนผิดเป็น อีเมลล์
4. เทคนิค (Technic) มักเขียนผิดเป็น เทคนิก/ เทกนิค
5. เกม (Game) มักเขียนผิดเป็น เกมส์
6. ฟังก์ชัน (Function) มักเขียนผิดเป็น ฟังก์ชั่น
7. อัปเดต (Update) มักเขียนผิดเป็น อัพเดท/ อัพเดต
8. พรีเซนต์ (Present) มักเขียนผิดเป็น พรีเซนท์
9. แบงก์ (Bank) มักเขียนผิดเป็น แบงค์
10. ทอปปิก (Topic) มักเขียนผิดเป็น ท็อปปิก
11. เว็บไซต์ (Website) มักเขียนผิดเป็น เวบไซต์/ เว็บไซท์
12. เฟซบุ๊ก (Facebook) มักเขียนผิดเป็น เฟสบุ๊ก/ เฟสบุ๊ค
13. ดิจิทัล (Digital) มักเขียนผิดเป็น ดิจิตอล
14. ลิงก์ (Link) มักเขียนผิดเป็น ลิ้งค์/ ลิ้งก์
15. คอมเมนต์ (Comment) มักเขียนผิดเป็น คอมเม้น/ คอมเมนท์
16. บล็อค (Blog) มักเขียนผิดเป็น บล็อก/ บลอก/ บลอค
17. สมาร์ต (Smart) มักเขียนผิดเป็น สมาร์ท
18. คอนเทนต์ (Content) มักเขียนผิดเป็น คอนเท้นต์
19. แพ็กเกจ (Package) มักเขียนผิดเป็น แพ็คเกจ
20. โพรไฟล์ (Profile) มักเขียนผิดเป็น โปรไฟล์
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ และช่วยให้น้อง ๆ เข้าใจเรื่อง “หลักเกณฑ์ การ ทับศัพท์” มากขึ้นนะ
ส่วนใครที่กำลังมองหาที่ติวภาษาไทย หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็มาปรึกษาพี่ TUTOR VIP ได้นะ พี่ ๆ ยินดีให้คำปรึกษาเสมอ
บทความต่อไป TUTOR VIP จะมาแนะนำอะไรอีกนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ
ด้วยความร่วมมือของ TUTOR-VIP X Clearnote Thailand
บทความล่าสุด
สังคมและประวัติศาสตร์
สรุปลำดับราชวงศ์ของไทย
ภาษาไทย
สรุปหลักเกณฑ์คำทับศัพท์แบบเข้าใจง่าย
ภาษาไทย
ปูพื้นฐานความรู้ภาษาไทยเรื่อง คำราชาศัพท์