สวัสดีจ้า กลับมาพบกันอีกครั้งกับบล็อกอัปเดตความรู้และสาระดี ๆ วันนี้พี่ TUTOR VIP จะมาเจาะกันที่เรื่องระบบสุริยะ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญของวิชาดาราศาสตร์กันเลย ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย
เลือกอ่านเนื้อหาที่ต้องการ
ระบบสุริยะคืออะไร?
ระบบสุริยะ คือ ระบบที่กำเนิดมาจากเนบิวลาสุริยะ (Solar Nebular) ซึ่งประกอบไปด้วยฝุ่นและแก๊ส ส่วนใหญ่เป็นแก๊สไฮโดรเจนและฮีเลียมรวมไปถึงธาตุหนักต่าง ๆ ที่ได้ก่อตัวเป็นดวงอาทิตย์ที่บริเวณศูนย์กลางของระบบสุริยะ
ส่วนสสารที่เหลือจะรวมตัวเป็นจานดาวเคราะห์กระจายตัวกันหมุนรอบดวงอาทิตย์ โดยสสารที่มีจุดหลอมเหลวสูงจะกระจายอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ ]ส่วนสสารที่มีจุดหลอมเหลวต่ำจะถูกผลักออกห่างจากดวงอาทิตย์ เกิดการชนกันและพอกพูนมวลเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นดาวเคราะห์บริวารของดวงอาทิตย์ในที่สุด
ระบบสุริยะ มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ประกอบไปด้วยดาวเคราะห์ (Planet) หรือดาวที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง 8 ดวง ได้แก่ ดาวพุธ, ดาวศุกร์, โลก, ดาวอังคาร, ดาวพฤหัสบดี, ดาวเสาร์, ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน รวมไปถึงดาวเคราะห์แคระ เช่น ดาวพลูโต, ดวงจันทร์บริวาร, ดาวเคราะห์น้อย, วัตถุในแถบไคเปอร์, ดาวหาง, สะเก็ดดาว และฝุ่นระหว่างดาวเคราะห์
การแบ่งเขตพื้นที่ของระบบสุริยะ
นักดาราศาสตร์ได้แบ่งเขตพื้นที่รอบดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะออกเป็น 4 เขต ตามตำแหน่งที่เกิด, ลักษณะการเกิด และสัดส่วนของธาตุที่เป็นองค์ประกอบ ดังนี้
- ดาวเคราะห์ชั้นใน (Inner Planets) คือ ดาวเคราะห์ที่อยู่ระหว่างดวงอาทิตย์กับแถบดาวเคราะห์น้อย ประกอบด้วย ดาวพุธ, ดาวศุกร์, โลก และดาวอังคาร ดาวเคาระห์ชั้นในจะมีพื้นผิวแข็งเป็นหินและมีแก่นเป็นโลหะ จึงเรียกว่า “ดาวเคราะห์หิน (Rocky Palnet)”
- แถบดาวเคราะห์น้อย (Asteroid Belt) คือ กลุ่มของดาวเคราะห์น้อยที่เป็นเศษที่เหลือจากการพอกพูนมวลซึ่งไม่สามารถประกอบเป็นดาวเคราะห์หินขนาดใหญ่ได้เนื่องจากถูกแรงรบกวนจากดาวพฤหัสบดี แถบของดาวเคราะห์น้อยจะตั้งอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี
- ดาวเคราะห์ชั้นนอก (Outer Planets) คือ ดาวเคราะห์แก๊สขนาดยักษ์ที่มีองค์ประกอบหลักเป็นไฮโดรเจน, ฮีเลียม และมีเทน อยู่ห่างจากแถบดาวเคราะห์น้อยออกไป ประกอบด้วย ดาวพฤหัสบดี, ดาวเสาร์, ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน
- เขตดาวหาง คือ บริเวณที่อยู่ไกลจากดาวเนปจูนออกไป ประกอบด้วย
-
- แถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) คือ บริเวณที่ประกอบไปด้วยสสารดั้งเดิมของเนบิวลาสุริยะ ที่ไม่ได้ประกอบตัวเป็นดาวเคราะห์ เช่น มีเทน, แอมโมเนีย และน้ำที่อยู่ในสถานะของแข็ง นอกจากนี้ยังสามารถพบดาวเคราะห์แคระ เช่น ดาวพลูโต, ดาวมาเกะมาเกะ, และดาวอีริส เป็นต้น
- เมฆของออร์ต (Oort Cloud) คือ กลุ่มก้อนน้ำแข็งปนหินที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ออกไป 2 ปีแสง (ประมาณ 18.9 ล้านล้านกิโลเมตร) บริเวณนี้เป็นแหล่งกำเนิดดาวหางคาบยาว (ดาวหางที่มีคาบการโคจรเป็นวงรีรอบดวงอาทิตย์ยาวกว่า 200 ปี) จึงมีอีกชื่อเรียกว่า “ดงดาวหาง”
ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ
ดาวเคราะห์ (Planet) คือ ดาวที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 500 ไมล์ (804.63 กม.) โดยโคจรรอบดาวฤกษ์ (ดวงอาทิตย์) ไม่ใช่ดวงจันทร์บริวาร และต้องมีแรงดึงดูดมากพอที่จะทำให้โครงสร้างของดาวเป็นวงกลม โดยในระบบสุริยะมีดาวเคราะห์ทั้งหมด 8 ดวง เรียงลำดับจากระยะห่างจากดวงอาทิตย์ ดังนี้
- ดาวพุธ (Mercury) คือ ดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดโดยมีระยะทางจากดวงอาทิตย์ประมาณ 60 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 1 ใน 3 ของระยะทางจากโลกไปยัง ดวงอาทิตย์ ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบเพียง 88 วัน และหมุนรอบตัวเองใช้เวลา 59 วัน ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์ที่ไม่มีดวงจันทร์บริวาร และได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์มากที่สุด เนื่องจากไม่มีชั้นบรรยากาศห่อหุ้มพื้นผิว จึงร้อนและแห้งแล้ง อุณหภูมิของด้านสว่างและด้านมืดแตกต่างกันมาก ทำให้ดาวพุธมีฉายาว่า “เตาไฟแช่แข็ง”
. - ดาวศุกร์ (Venus) คือ ดาวเคราะห์ที่มีขนาดเล็กกว่าโลกเล็กน้อย จึงได้ชื่อว่าเป็น “ฝาแฝดของโลก” ดาวศุกร์มีระยะทางจากดวงอาทิตย์ประมาณ 110 ล้านกิโลเมตร หรือ ประมาณ 2 ใน 3 ของระยะทางจากโลกไปยังดวงอาทิตย์ ดาวศุกร์หมุนรอบตัวเองใช้เวลา ประมาณ 243 วัน และโคจรรอบดวงอาทิตย์ใช้เวลา ประมาณ 225 วัน ของโลก โดยมีทิศทางการหมุนรอบตัวเองจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ซึ่งตรงข้ามกับดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ
.
ดาวศุกร์ไม่มีดวงจันทร์บริวาร และมีอุณหภูมิสูงที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์ทั้งหมดเนื่องจากบรรยากาศปกคลุมไปด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่หนาทึบจึงเก็บความร้อนเอาไว้ พื้นผิวมีลักษณะเป็นภูเขา หุบเขา และหลุมบ่อ
.
ดาวศุกร์เป็นดาวที่สว่างรองจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ถ้าเห็นทางทิศตะวันตกในเวลาค่ำ เรียกว่า “ดาวประจำเมือง” ถ้าเห็นทางทิศตะวันออกในเวลาก่อนรุ่งอรุณ เรียกว่า “ดาวประกายพรึก” โดยเวลาที่เห็น คือ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้วไม่เกิน 3 ชั่วโมง
. - โลก (Earth) คือ ดาวเคราะห์ที่มีลักษณะพิเศษ เพราะบนโลกมีอากาศและน้ำซึ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต และเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่พื้นผิวส่วนใหญ่ปกคลุมไปด้วยน้ำ
.
โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ใช้เวลา 365 วัน 6 ชั่วโมง 9 นาที โลกหมุนจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก หรือหมุนทวนเข็มนาฬิกา แกนของโลกเอียงเป็นมุมประมาณ 23 องศากับแนวตั้งฉากของระนาบวงโคจร จึงทำให้เกิดฤดูกาลต่าง ๆ ขึ้นบนโลก
.
โลกมีดวงจันทร์เป็นบริวาร 1 ดวง โดยจะหมุนรอบโลกและหมุนรอบตัวเอง 1 รอบ ใช้เวลา 27 วัน บนดวงจันทร์ไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ อุณหภูมิในเวลากลางวันสูงถึง 127 องศาเซลเซียส เวลากลางคืนมีอุณหภูมิ –150 องศาเซลเซียส และพื้นผิวของดวงจันทร์เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตและปล่องภูเขาไฟที่ดับแล้ว
. - ดาวอังคาร (Mars) คือ ดาวเคราะห์ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1/2 ของโลก มีระยะทางจากดวงอาทิตย์ประมาณ 230 ล้านกิโลเมตร ดาวอังคารหมุนรอบตัวเองโดยใช้เวลาประมาณ 25 ชั่วโมง และโคจรรอบดวงอาทิตย์โดยใช้เวลาประมาณ 687 วัน แกนของดาสอังคารเอียงเช่นเดียวกับโลก จึงทำให้บนดาวอังคารมีฤดูกาลคล้ายกับบนโลก
.
ดาวอังคาร มีดวงจันทร์บริวาร 2 ดวง ชื่อ โฟบอสและไดมอส ทั้ง 2 ดวงไม่มีบรรยากาศห่อหุ้ม ดาวอังคารมักถูกเรียกว่า “ดาวแดง” เพราะมีพื้นผิวสีแดง บรรยากาศมีอยู่เบาบางมาก พื้นผิวขรุขระเต็มไปด้วยหิน มีหลุมบ่อ มีปล่องภูเขาไฟ ฝุ่นละออง และพายุทรายที่รุนแรง
. - ดาวพฤหัสบดี (Jupiter) คือ ดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 142,985 กิโลเมตร หรือประมาณ 11 เท่า ของโลก ดาวพฤหัสบดีโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยมีระยะทางจากดวงอาทิตย์ประมาณ 780 ล้านกิโลเมตร ดาวพฤหัสบดีหมุนรอบตัวเองโดยใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง และโคจรรอบดวงอาทิตย์โดยใช้เวลาประมาณ 12 ปี
.
ดาวพฤหัสบดี มีดวงจันทร์บริวารไม่น้อยกว่า 63 ดวง และดาวขนาดใหญ่เป็นบริวาร 4 ดวง เรียงกันอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตรของดาวพฤหัสบดี มีชื่อว่า ไอโอ, ยูโรปา, แกนีมีด และคัลลิสโต
. - ดาวเสาร์ (Saturn) คือ ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 120,537 กิโลเมตร หรือใหญ่กว่าโลกประมาณ 9 เท่า มีลักษณะคล้ายดาวพฤหัสบดี คือ มีพื้นผิวสีเหลืองซึ่งเป็นแก๊สที่เบามาก มีความหนาแน่นน้อยกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ โดยโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ใช้เวลา 29.5 ปี หมุนรอบตัวเอง 1 รอบ ใช้เวลา 10 ชั่วโมง 39 นาที
.
ดาวเสาร์มีดาวบริวารมากกว่า 30 ดวง ดวงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีชื่อว่า “ไตตัน” มีขนาดเท่าดาวพุธและเป็นดาวบริวารดวงเดียวที่มีบรรยากาศห่อหุ้ม เมฆหมอกที่ปกคลุมดาวเสาร์นั้นเย็นจัด มีอุณหภูมิ -185 องศาเซลเซียส ดาวเสาร์มีวงแหวน 6 วง และวงเล็ก ๆ ประมาณ 1 แสนวงซึ่งเป็นก้อนหินและชิ้นน้ำแข็งล้อมรอบ
. - ดาวยูเรนัส (Uranus) หรือดาวมฤตยู คือ ดาวเคราะห์ดวงแรกที่ถูกค้นพบด้วยกล้องโทรทรรศน์ มีลักษณะเป็นก้อนแก๊สกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 51,119 กิโลเมตร หรือประมาณ 4 เท่าของโลก และเป็นดาวเคราะห์แก๊สที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 3 โคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ใช้เวลา 84 ปี และหมุนรอบตัวเองใช้เวลา 17 ชั่วโมง มีการค้นพบว่า ดาวยูเรนัสมีวงแหวนล้อมรอบคล้ายดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ วงแหวนประกอบด้วยชิ้นน้ำแข็ง บรรยากาศของดาวยูเรนัสส่วนใหญ่เป็นแก๊สไฮโดรเจน ที่เหลือเป็นฮีเลียมและแก๊สอื่นๆ บรรยากาศชั้นบนมีฮีเลียมจำนวนมากจึงทำให้ดาวยูเรนัสมีสีฟ้าอมเขียว แกนกลางเป็นหินแข็งขนาดเล็ก มีอุณหภูมิที่พื้นผิว –210 องศาเซลเซียส และมีดาวบริวาร 21 ดวง
. - ดาวเนปจูน (Neptune) หรือดาวเกตุ คือ ดาวเคราะห์ดวงแรกที่พบจากการคำนวณของนักดาราศาสตร์ก่อนที่จะตรวจพบบนท้องฟ้าด้วยกล้องโทรทรรศน์ ดาวเนปจูนเป็นดาวเคราะห์แก๊สดวงที่ 4 โคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ใช้เวลาถึง 165 ปี และหมุนรอบตัวเอง 1 รอบ ใช้เวลา 15 ชั่วโมง มีดาวบริวาร 8 ดวง ดวงที่ใหญ่ที่สุดชื่อ “ทริตัน” และ “เนรีด” โดยดาวทริตันหมุนรอบดาวเนปจูนในทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทางการหมุนของดาวเนปจูน
จากบทความนี้ ก็หวังว่าน้อง ๆ จะได้รับความรู้ดาราศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องระบบสุริยะไปไม่มากก็น้อยนะ แต่จริง ๆ แล้วจักรวาลเรายังกว้างใหญ่อีกมาก หากใครอยากศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับดาราศาสตร์เพิ่มเติม ก็สามารถติดตามบทความต่อ ๆ ไปของเรากันได้เลยนะ!!
สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่กำลังมองหาที่เรียนพิเศษ หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็มาปรึกษาพี่ TUTOR VIP ได้นะ พี่ ๆ ยินดีให้คำปรึกษาเสมอ
บทความต่อไป TUTOR VIP จะมีสาระอะไรมาฝากอีกนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ
ด้วยความร่วมมือของ TUTOR-VIP X Clearnote Thailand
บทความล่าสุด
สังคมและประวัติศาสตร์
สรุปพุทธประวัติแบบกระชับ!
สังคมและประวัติศาสตร์
สรุปรวม “ศาสนาสำคัญของโลก” ที่ต้องรู้!
สังคมและประวัติศาสตร์
รากฐานแห่ง“อารยธรรมอินเดีย” อารยธรรมที่ส่งต่อถึงปัจจุบัน