สวัสดีทุกคน วันนี้ Tutor VIP จะมาแนะนำคณะและสาขาวิชาจิตวิทยา ว่าเรียนเกี่ยวกับอะไรกันบ้าง, ใช้คะแนนอะไรยื่น รวมไปถึงอาชีพที่รองรับหลังเรียนจบ เพื่อให้น้องๆที่สนใจเตรียมตัวได้ตรงจุดยิ่งขึ้น มาทำความรู้จักคณะและสาขาจิตวิทยาไปพร้อมกันเลย!
เลือกอ่านเนื้อหาที่ต้องการ
คณะจิตวิทยา เรียนอะไรบ้าง?
สำหรับคณะและสาขาวิชาจิตวิทยาจะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปี โดยจะเรียนเกี่ยวกับชีววิทยา, จิตวิทยาทั่วไป, จิตวิทยาบุคคลิกภาพ, จิตวิทยาการรู้คิดและปัญญา เป็นต้น
มีเนื้อหาการเรียน ตั้งแต่ปี 1-4 ดังนี้
- ปี 1 จะเรียนวิชาทั่วไปของมหาวิทยาลัย และเรียนวิชาพื้นฐานของคณะ เช่น ชีววิทยาทั่วไป, จิตวิทยาทั่วไป, จิตวิทยาพัฒนาการ เป็นต้น
- ปี 2 จะเรียนวิชาเนื้อหาในสาขาวิชาเฉพาะมากขึ้น เช่น จิตวิทยาสังคม, สุขภาพจิต, จิตวิทยาการปรึกษาเบื้องต้น เป็นต้น
- ปี 3 จะเรียนเนื้อหาเฉพาะของสาขาที่ลงลึกขึ้น เช่น จิตวิทยาการรู้คิดและปัญญา, จิตวิทยาวัยรุ่น, จิตวิทยาคลินิกเบื้องต้น เป็นต้น
- ปี 4 จะเรียนเนื้อหาเชิงปฏิบัติมากขึ้น เช่น จิตวิทยาการทดลอง, การวินิจฉัยเด็กที่มีลักษณะพิเศษ, การฝึกปฏิบัติทางจิตวิทยาคลินิก เป็นต้น
มีสาขาอะไรบ้าง?
คณะและสาขาจิตวิทยาในระดับปริญญาตรีจะไม่ได้แบ่งสาขาชัดเจน แต่สามารถเลือกลงวิชาเฉพาะด้านที่สนใจเพื่อนำไปต่อยอดในระดับปริญญาโทต่อไปได้ โดยมีกลุ่มวิชาเฉพาะด้าน ดังนี้
- จิตวิทยาทั่วไป เรียนเกี่ยวกับ กระบวนการคิด และพฤติกรรมของมนุษย์โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์
- จิตวิทยาการศึกษา เรียนเกี่ยวกับ หลักและทฤษฎีทางจิตวิทยาที่นำมาใช้ในกระบวนการเรียนรู้, ระบบการศึกษา, การวัดและประเมินผลการศึกษา รวมถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและสติปัญญาที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ เป็นต้น
- จิตวิทยาคลินิก เรียนเกี่ยวกับ หลักและทฤษฎีทางจิตวิทยาที่นำมาใช้ในการวินิจฉัย ให้คำปรึกษา หรือบำบัดผู้ที่มีปัญหาทางจิต เป็นต้น
- จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ เรียนเกี่ยวกับ หลักและทฤษฎีทางจิตวิทยาที่นำมาประยุกต์ใช้กับพฤติกรรมมนุษย์ในที่ทำงาน เช่น การคัดเลือกบุคคลากร, การฝึกอบรม, การสื่อสารในองค์การ เป็นต้น
- จิตวิทยาการปรึกษา เรียนเกี่ยวกับ การปรึกษาแบบกลุ่ม, การปรึกษาเชิงอาชีพ, การปรึกษาคู่และครอบครัว เพื่อนำความรู้ด้านจิตวิทยามาใช้ในการเข้าใจและแก้ไขปัญหาของตนและผู้อื่น เป็นต้น
- จิตวิทยาพัฒนาการ เรียนเกี่ยวกับ พัฒนาการชีวิตทุกช่วงวัย, จิตวิทยาทารกและวัยเด็ก, จิตวิทยาวัยรุ่น เพื่อนำความรู้ด้านจิตวิทยามาใช้ในการเข้าใจพัฒนาการของมนุษย์ในแต่ละช่วงวัย ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และความคิด เป็นต้น
ทั้งนี้วิชาเฉพาะด้านที่มีอาจแตกต่างกันไปในแต่ละมหาวิทยาลัย หากน้อง ๆ ต้องการทราบข้อมูลของสถาบันที่ต้องการ สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บของสถาบันนั้น ๆ ได้เลย
จบไปทำงานอะไร?
อาชีพที่รองรับหลังเรียนจบคณะและสาขาจิตวิทยา อาทิ
- นักจิตวิทยาในหน่วยงานของรัฐ และเอกชน
- นักวิจัยด้านพฤติกรรมมนุษย์
- บุคคลากรที่ทำงานด้านพัฒนาการมนุษย์
- บุคคลากรฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
- นักการตลาด
- นักการสื่อสาร
- อาจารย์
และอาชีพอื่น ๆ ในองค์กรรัฐ และเอกชนอีกมากมาย
ใช้คะแนนอะไรบ้าง?
สำหรับ Dek66 ในรอบที่ 3 Admission คะแนนหลัก ๆ ที่ต้องใช้จะมี ดังนี้
รูปแบบที่ 1
- A-Level คณิตศาสตร์1 (ประยุกต์), ชีววิทยา, สังคมศึกษา, ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ
รูปแบบที่ 2
- A-Level สังคมศึกษา, ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ และ คณิตศาสตร์2 (พื้นฐาน) หรือ ภาษาที่ 3
ในบางมหาวิทยาลัยอาจจำเป็นต้องใช้คะแนนวิชาอื่น ๆ ด้วย ดูเกณฑ์ของสาขา และม.ที่ต้องการก่อนสมัครสอบเพิ่มเติมได้ ที่นี่ สามารถค้นหาเกณฑ์ของคณะ และมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้เลย
*อัปเดตล่าสุด สัดส่วนคะแนนของคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ สำหรับ Dek66 คลิก (รายละเอียดอยู่หน้า 2)
ที่ไหนเปิดสอนบ้าง?
ปัจจุบันมีสถาบันทั้งรัฐ และเอกชนทั่วประเทศเปิดสอนคณะ และสาขาวิชาจิตวิทยา เช่น
- คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยนเรศวร
- คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยบูรพา
- คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร
- คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับน้องๆ ที่เล็งคณะและสาขาวิชาจิตวิทยาไว้นะ ใครเตรียมสอบเข้าจิตวิทยาอยู่ก็ขอเป็นกำลังใจให้นะ ส่วนใครกำลังหาที่ติวก็มาปรึกษาพี่ Tutor VIP ได้นะครับ:)
บทความต่อไป Tutor VIP จะมาแนะนำคณะอะไรอีกนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ
ด้วยความร่วมมือของ TUTOR-VIP X Clearnote Thailand
บทความล่าสุด
สังคมและประวัติศาสตร์
สรุปลำดับราชวงศ์ของไทย
ภาษาไทย
สรุปหลักเกณฑ์คำทับศัพท์แบบเข้าใจง่าย
ภาษาไทย
ปูพื้นฐานความรู้ภาษาไทยเรื่อง คำราชาศัพท์