สวัสดีทุกคน! ในบทความนี้พี่จะสรุปเกี่ยวกับ “อารยธรรมอียิปต์” ซึ่งเป็นอารยธรรมสำคัญในดินแดนลุ่มแม่น้ำไนล์ มาดูกันว่าอารยธรรมนี้มีความน่าสนใจอะไรบ้าง และต่างจากอารยธรรมอื่น ๆ อย่างไร ตามไปศึกษาในบทความไปพร้อมกันเลย!
อารยธรรมอียิปต์ คืออะไร?
อารยธรรมอียิปต์ คือ อารยธรรมโบราณที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยพื้นที่ของอารยธรรมอียิปต์ครอบคลุมตั้งแต่ตอนกลางจนถึงปากแม่น้ำไนล์ อารยธรรมนี้กำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 3,100 ปีก่อนคริสตกาล โดยเริ่มนับตั้งแต่อียิปต์บนและอียิปต์ล่างถูกรวมกันภายใต้การปกครองของ*ฟาโรห์นาร์เมอร์ (Narmer) ซึ่งถือเป็นฟาโรห์พระองค์แรกของอียิปต์โบราณ ในช่วงนี้ได้เริ่มการตั้งศูนย์กลางการปกครองที่นครเมมฟิส (Memphis) ซึ่งกลายเป็นเมืองสำคัญในเวลาต่อมา
อารยธรรมอียิปต์ (ประมาณ 3,100 – 30 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มีความเจริญทั้งในด้านสถาปัตยกรรม เช่น การก่อสร้างพีระมิด, ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์, ด้านการจัดการชลประทานที่ซับซ้อน เป็นต้น ก่อนที่จะล่มสลายและถูกปกครองโดยจักรวรรดิโรมันตั้งแต่ 30 ปีก่อนคริศต์ศักราช รวมระยะเวลาที่รุ่งเรืองและร่วงโรยต่อเนื่องกว่า 3,000 ปี
*ในบางทฤษฎีเชื่อว่าฟาโรห์เมเนส (Menes) เป็นผู้รวมอียิปต์บนและอียิปต์ล่าง และได้ตั้งศูนย์กลางการปกครองในพื้นที่ซึ่งต่อมากลายเป็นนครเมมฟิส (Memphis)
อารยธรรมอียิปต์
มีความลักษณะเด่นในด้านต่าง ๆ ดังนี้
สภาพสังคม
มีการแบ่งชนชั้นเป็น 5 ระดับ ได้แก่
-
- กษัตริย์และพระราชวงศ์ถือว่าเป็นชนชั้นสูงสุด
- พระและขุนนางเป็นชนชั้นสูงรองลงมา มีบทบาททางศาสนาและการปกครอง
- พ่อค้า, ช่างฝีมือ และศิลปินจัดเป็นชนชั้นกลาง
- ชาวนา จัดเป็นชนชั้นล่าง เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุด และเป็นกำลังสำคัญในกองทัพและแรงงานหลักในงานสาธารณะประโยชน์
- ทาส เป็นชนชั้นที่อยู่ล่างสุด โดยถูกกวาดต้อนมาจากการแพ้สงคราม
การประกอบอาชีพ
-
- การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ถือเป็นอาชีพหลักที่ทำมายาวนานตั้งแต่ 4,000 ปีก่อนคริศตกาล นิยมทำบริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์ พืชที่นิยมปลูกคือ ข้าวสาลี, ข้าวบาเลย์, ต้นแฟลกซ์ รวมไปถึงไม้ผลต่าง ๆ
- การค้า นิยมทำการค้ากับอาณาจักรบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน, เมโสโปเตเมีย และอาราเบีย เป็นต้น
- การทำเหมืองแร่ มีการขุดทองแดงตั้งแต่ 4,000 ปีก่อนคริสตกาลซึ่งขุดบริเวณคาบสมุทรไซนาย (Sinai) นอกจากทองแดงก็ยังมีการขุดพลอยและทองคำบริเวณเทือกเขาทางตะวันออกอีกด้วย
- งานฝีมือ ได้แก่ งานหล่อ, งานทอผ้า เป็นต้น
การปกครอง
ลักษณะการปกครองเป็นแบบเทวาธิปไตย (Theocracy) กล่าวคือผู้ปกครองอ้างสิทธิ์ของความเป็นเทพเจ้าในการปกครอง โดยมีกลุ่มที่ปกครอง ดังนี้
-
- ฟาโรห์ (Pharaoh) คือ ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าและกษัตริย์ โดยฟาโรห์ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ปกครองและผู้นำทางศาสนา ถือว่าเป็นตัวแทนของเทพฮอรัส (Horus) บนโลก ซึ่งทำให้ฟาโรห์มีอำนาจสูงสุดและได้รับการนับถืออย่างสูงในหมู่ชาวอียิปต์
- ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ (Vizier) คือ ผู้ปกครองที่มีอำนาจรองลงมาจากฟาโรห์ โดยผู้ดำรงตำแหน่งนี้มักเป็นผู้ที่ฟาโรห์ไว้วางใจและมีความใกล้ชิดกับราชวงศ์ ทำให้สามารถปฏิบัติหน้าที่แทนฟาโรห์ในการบริหารบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ขุนนาง (Noble) คือ ผู้ที่รับผิดชอบในหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ เช่น การเก็บภาษี, การชลประทาน และการควบคุมทรัพยากรการเกษตร
- ขุนนางมณฑลหรือผู้ว่าการมณฑล (Nomarch) คือ ข้าหลวงประจำมณฑลหรือเมืองที่ห่างไกลจากศูนย์กลาง
ศาสนาและความเชื่อ
ศาสนาของชาวอียิปต์โบราณเป็นระบบ พหุเทวนิยม (Polytheism) คือ การนับถือเทพเจ้าหลายองค์ ชาวอียิปต์มีความเชื่อในเทพเจ้าที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ปรากฏการณ์ในชีวิต และชีวิตหลังความตาย โดยเทพเจ้าสำคัญ ๆ ได้แก่
-
- เทพรา (Ra) เทพแห่งดวงอาทิตย์ ถือเป็นเทพเจ้าสูงสุด และชาวอียิปต์เชื่อว่าเป็นผู้สร้างโลก ราเป็นเทพที่มีบทบาทสำคัญในทุกชีวิต เพราะดวงอาทิตย์เป็นต้นกำเนิดของแสงสว่างและชีวิต
- เทพโอซิริส (Osiris) เทพแห่งความตายและการเกิดใหม่ โอซิริสเป็นผู้ปกครองโลกหลังความตายและเป็นผู้ตัดสินความดีความชั่วในชีวิตหลังความตาย ชาวอียิปต์เชื่อว่าถ้าทำความดีพวกเขาจะได้อยู่กับโอซิริสในชีวิตหลังความตาย
- เทพีไอซิส (Isis) เทพีแห่งความรักและการคุ้มครอง ไอซิสเป็นภรรยาของโอซิริสและเป็นมารดาของเทพฮอรัส ชาวอียิปต์บูชาไอซิสในฐานะเทพีที่คุ้มครองครอบครัวและชีวิต
- เทพฮอรัส (Horus) เทพแห่งท้องฟ้าและการปกครอง มักถูกแสดงเป็นมนุษย์ที่มีศีรษะเป็นเหยี่ยว ฮอรัสเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองของฟาโรห์ ชาวอียิปต์เชื่อว่าฟาโรห์เป็นตัวแทนของฮอรัสบนโลก
- เทพอะนูบิส (Anubis) เทพแห่งความตายและการทำมัมมี่ อะนูบิสทำหน้าที่ดูแลกระบวนการทำมัมมี่และพิทักษ์สุสานของผู้ตาย มีภาพลักษณ์เป็นมนุษย์ที่มีศีรษะเป็นสุนัขป่า
นอกจากนี้ ชาวอียิปต์โบราณยังมีความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย และพิธีกรรมการทำมัมมี่ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้วิญญาณเดินทางไปสู่โลกหลังความตายได้ โดยมัมมี่จะถูกวางลงในหีบศพพร้อมกับกระดาษม้วนที่เรียกว่า “คัมภีร์มรณะ” (Book of the Dead) ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่บันทึกคาถาและบทสวดสำหรับนำทางวิญญาณ
อย่างไรก็ตามมีเพียงฟาโรห์, ขุนนาง, ชนชั้นสูง และคนที่มีฐานะเท่านั้นที่มีการทำมัมมี่ สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่มีฐานะและคนชั้นล่างจะใช้วิธีการที่เรียบง่ายกว่า เช่น การห่อศพด้วยผ้า หรือการฝังศพ
ศิลปะการเขียน
ชาวอียิปต์โบราณเริ่มมีการประดิษฐ์อักษรตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยศิลปะการเขียนของอียิปต์โบราณมีความซับซ้อนและมีความสำคัญอย่างมากในด้านการบันทึกและสื่อสารวัฒนธรรมความเชื่อ ในช่วงแรกจะเป็นอักษรภาพที่ซับซ้อน และต่อมาได้มีการพัฒนาให้ซับซ้อนน้อยลง โดยแบ่งตัวอักษรได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
-
- อักษรไฮเออโรกลีฟ (Hieroglyphs) คือ อักษรสัญลักษณ์ภาพต่าง ๆ ที่ใช้แทนเสียงพยัญชนะ คำ และแนวคิด ชาวอียิปต์ใช้สัญลักษณ์ภาพแทนสัตว์ สิ่งของ หรือบุคคลเพื่อสื่อความหมาย บางภาพใช้แทนพยัญชนะเดี่ยวหรือกลุ่มเสียง และบางภาพใช้แทนแนวคิดที่ซับซ้อน อักษรไฮเออโรกลีฟถูกใช้ในงานศิลปะ ศาสนา และพิธีกรรม เช่น บันทึกประวัติศาสตร์ เหตุการณ์สำคัญ คำอธิษฐาน หรือคาถาต่าง ๆ ที่มักจารึกไว้ในสุสาน วิหาร คัมภีร์ หรือวัตถุบูชา เช่น คัมภีร์มรณะ (Book of the Dead) ซึ่งมีบทสวดและคาถาสำหรับการนำทางวิญญาณไปสู่ชีวิตหลังความตาย
- อักษรไฮเออแรติก (Hieratic) คือ อักษรแบบย่อที่พัฒนามาจากอักษรไฮเออโรกลีฟ ใช้สำหรับการเขียนบนกระดาษปาปิรุส (Papyrus) หรือการจดบันทึกที่ไม่เป็นทางการ
- อักษรดีมอติก (Demotic) คือ อักษรที่ถูกพัฒนาให้เขียนได้เร็วขึ้นอีกขั้น ใช้กันแพร่หลายในช่วงปลายอียิปต์โบราณ โดยใช้สำหรับการเขียนเอกสารทางธุรกิจ กฎหมาย และเรื่องทั่วไป
ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
ชาวอียิปต์มีความรู้ด้านการแพทย์ ดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยหลัก ๆ มีดังนี้
- การทำปฏิทิน
ชาวอียิปต์โบราณทำปฏิทินโดยยึดหลักสุริยคติ 1 ปี มี 12 เดือน 1 เดือน มี 30 วัน ที่เหลือ 5 วันกำหนดให้เป็นวันสำคัญช่วงปลายปี รวมไปถึงการกำหนดฤดูที่กำหนดให้ 1 ปีมี 3 ฤดู ฤดูละ 4 เดือน เริ่มจากฤดูน้ำท่วมหรือน้ำหลาก (The Flood of the Nile), ฤดูเพาะปลูกหรือไถหว่าน (The Period of Cultivation) และฤดูเก็บเกี่ยว (The Period of Harvesting)
- การแพทย์
จากบันทึกทางการแพทย์ที่ค้นพบโดยเอ็ดวิน สมิธ (The Edwin Smith Papyrus) ได้บันทึกว่าเมื่อ 1,600 ปีก่อนคริสตกาลแพทย์อียิปต์โบราณสามารถผ่าตัดหัวกะโหลกและผ่าตัดกระดูกสันหลังได้ ซึ่งแสดงถึงความเข้าใจทางกายวิภาคและการทำงานของร่างกาย และความชำนาญของแพทย์อียิปต์โบราณในการรักษาและผ่าตัด
- คณิตศาสตร์
ชาวอียิปต์โบราณสามารถคำนวณพื้นที่ของรูปทรงเรขาคณิตได้หลายประเภท เช่น พื้นที่สามเหลี่ยม, สี่เหลี่ยมคางหมู และวงกลม ตลอดจนชำนาญในการวัดขนาดที่ดิน ซึ่งส่งผลอย่างมากในความสามารถทางสถาปัตยกรรมอีกด้วย
ด้านสถาปัตยกรรม
จากความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ทำให้ชาวอียิปต์โบราณมีผลงานเด่นทางสถาปัตยกรรมมากมาย เช่น
-
- กลุ่มพีระมิดแห่งกีซา (Giza Pyramid Complex) คือ หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคเก่า และเป็นสุสานของฟาโรห์คูฟู (Khufu) สร้างเมื่อประมาณ 2,600 ปีก่อรคริสต์ศักราช ใช้ก้อนหินประมาณ 2,300,000 ก้อน แต่ละก้อนหนัก 2 ตัน พีระมิดนี้มีความสูงประมาณ 146.6 เมตรและเป็นสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงที่สุดในอียิปต์
- ศาสนาสถานแห่งคาร์นัก (Karnak) คือ วิหารที่ได้รับการยกย่องว่าใหญ่ที่สุดในอียิปต์ สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า มีการออกแบบที่สวยงามและซับซ้อน รวมถึงเสาและประติมากรรมที่เป็นเอกลักษณ์
ด้านวรรณกรรม
วรรณกรรมของอียิปต์โบราณแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
-
- วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น คัมภีร์มรณะ (Book of the Dead) ซึ่งประกอบด้วยบทสวดและคำอธิษฐานที่ช่วยนำทางวิญญาณไปสู่ชีวิตหลังความตาย นอกจากนี้ยังรวมถึงตำนานเกี่ยวกับเทพเจ้า เช่น ตำนานโอซิริสและไอซิส ซึ่งมีความสำคัญต่อความเชื่อและพิธีกรรมของชาวอียิปต์โบราณ
- วรรณกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น งานสลักบันทึกเหตุการณ์ตามเสาหินหรือผนังพีรามิด และเอกสารที่บันทึกเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ หรือกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ รวมถึงจดหมายส่วนตัวและบทกวีที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา เป็นต้น
ด้านการชลประทาน
อียิปต์โบราณพึ่งพาแม่น้ำไนล์ในการเพาะปลูก จึงได้พัฒนาวิธีการกักเก็บน้ำในช่วงที่น้ำน้อย และส่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรเพื่อให้เพาะปลูกได้เป็นบริเวณกว้าง รวมถึงการขุดคูคลองระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก และทำทำนบกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม
ด้านศิลปกรรม
ส่วนใหญ่มักมีการสร้างเพื่อรับใช้ศาสนา โดยมีศิลปกรรมที่โดดเด่น คือ
-
- มหาสฟิงซ์แห่งกีซา (The Great Sphinx of Giza) คือ สัตว์ในตำนานที่มีศีรษะเป็นมนุษย์ และร่างกายเป็นสิงโต เป็นการแกะสลักบนหินปูน มีความยาวจากเท้าหน้าไปที่หาง 73 เมตร (240 ฟุต) ความสูงจากฐานไปยังหัวที่ 20 เมตร (66 ฟุต) และความกว้างตรงโหนกหลังที่ 19 เมตร (62 ฟุต)
เป็นอย่างไรกันบ้าง น่าทึ่งมากเลยใช่ไหมที่อารยธรรมเมื่อหลายพันปีก่อนจะรุ่งเรืองได้ถึงขนาดนี้ หวังว่าน้อง ๆ จะได้ความรู้และเข้าใจเรื่อง “อารยธรรมอียิปต์” มากขึ้นนะ
ส่วนใครที่กำลังมองหาที่ติวตัวต่อตัว หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็มาปรึกษาพี่ TUTOR VIP ได้นะ พี่ ๆ ยินดีให้คำปรึกษาเสมอ
บทความต่อไป TUTOR VIP จะมาแนะนำอะไรอีกนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ
ด้วยความร่วมมือของ TUTOR-VIP X Clearnote Thailand
บทความล่าสุด
สังคมและประวัติศาสตร์
สรุปพุทธประวัติแบบกระชับ!
สังคมและประวัติศาสตร์
สรุปรวม “ศาสนาสำคัญของโลก” ที่ต้องรู้!
สังคมและประวัติศาสตร์
รากฐานแห่ง“อารยธรรมอินเดีย” อารยธรรมที่ส่งต่อถึงปัจจุบัน