สวัสดีน้อง ๆ ทุกคน บทความนี้พี่ TUTOR VIP จะมาสรุปเรื่อง “ระบบต่อมไร้ท่อและฮอร์โมน” ซึ่งเป็นระบบที่มีความสำคัญมากในร่างกายของเราทุกคน โดยสรุปแบบกระชับเพื่อให้น้อง ๆ รู้จักระบบนี้ใด้ดียิ่งขึ้น ตามไปดูกันเลย
เลือกอ่านเนื้อหาที่ต้องการ
ระบบต่อมไร้ท่อคืออะไร?
“ระบบต่อมไร้ท่อ” (Endocrine System) คือ ระบบที่มีความสำคัญอย่างมากในร่างกายของมนุษย์เพราะเป็นระบบที่สร้างสารเคมีที่เรียกว่า “ฮอร์โมน” เมื่อต่อมไร้ท่อสร้างฮอร์โมนแล้วจะหลั่งฮอร์โมนไปยังระบบไหลเวียนเลือดเพื่อลำเลียงไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อให้การทำงานของร่างกายเป็นปกติ เช่น การควบคุมปฏิกิริยาเคมีภายในเซลล์, การควบคุมอารมณ์และการสืบพันธุ์ เป็นต้น
หน้าที่ของต่อมไร้ท่อ
หน้าที่ของต่อมไร้ท่อมีดังนี้
- การสืบพันธุ์
ผลิตฮอร์โมนเพศ ควบคุมการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะสืบพันธุ์ตามช่วงวัย เช่น การสร้างอสุจิ, การตั้งครรภ์, การคลอดลูก เป็นต้น โดยมีฮอร์โมนที่เกี่ยวข้อง คือ แอนโดรเจน (Androgen), เอสโตรเจน (Estrogen), โพรเจสเทอโรน (Progesterone) และโพรแลกติน (Prolactin)
- การเจริญเติบโตและพัฒนาการ
ผลิตฮอร์โมนที่ทำให้มีการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในร่างกาย, การเจริญเติบโตตามวัย และการแก่ชรา โดยมีฮอร์โมนที่เกี่ยวข้อง คือ โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone), ไทรอกซิน (Thyroxin Hormone) และอินซูลิน (Insulin)
- การสร้างและการใช้พลังงาน
ผลิตฮอร์โมนที่สร้างการเผาผลาญหรือเมแทบอลิซึม (Metabolism) ของไขมัน, โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต โดยมีฮอร์โมนที่เกี่ยวข้อง คือ อินซูลิน ( Insulin), อะดรีนาลิน (Adrenaline) หรือ อิพิเนฟริน (Epinephrine และคอร์ติซอล (Cortisol)
- การรักษาสภาวะในร่างกายให้คงที่
ผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมน้ำและเกลือแร่เพื่อรักษาสภาพภายในร่างกายให้สมดุล โดยมีฮอร์โมนที่เกี่ยวข้อง คือ แอลโดสเตอโรน (Aldosterone) ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณโซเดียม และฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone :ADH) ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำ
ประเภทของต่อมไร้ท่อ
ต่อมไร้ท่อ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
1.ต่อมไร้ท่อที่จำเป็นต่อร่างกาย (Essential Endocrine Gland) คือ ต่อมไร้ท่อที่ร่างกายไม่สามารถขาดได้ และหากขาดต่อมเหล่านี้ไปจะทำให้เสียชีวิตทันที โดยต่อมไร้ท่อที่จำเป็นต่อร่างกาย มีดังนี้
1.1 ต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid) คือ ต่อมไร้ท่อขนาดเล็กฝังอยู่ด้านหลังเนื้อเยื่อไทรอยด์ ทำหน้าที่ผลิต “พาราทอร์โมน” (Parathormone) ทำหน้าที่ควบคุมระดับแคลเซียมในเลือด มีลักษณะเป็นรูปวงรีคล้ายเม็ดถั่วหรืออาจเป็นรูปหยดน้ำตา
1.2 ต่อมหมวกไต (Adrenal Gland) คือ ต่อมที่มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่บริเวณด้านบนของไตทั้ง 2 ข้าง ประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 2 ชั้น ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่สำคัญ 5 ชนิด คือ
・กลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid Hormone) ทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต
・ มินเนอราโลคอร์ติคอยด์ (Mineralocorticoid Hormone) ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือแร่
・ ฮอร์โมนเพศ (Sex hormone) ทำหน้าที่ช่วยควบคุมลักษณะทางเพศที่สมบูรณ์ในร่างกายทั้งเพศชายและหญิง
・ อะดรีนาลีน (Adrenalin/Epinephrine Hormone) ทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด
・ นอร์อะดรีนาลีน (Noradrenlin/Norepinephrine Hormone) ทำให้ตื่นตัว และการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย
1.3 ต่อมไอส์เลตส์ของตับอ่อน (Islets of Langerhans) คือ กลุ่มเซลล์ขนาดเล็ก (ราวร้อยละ 3) ในตับอ่อน (Pancreas) ที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่สำคัญ 2 ชนิด คือ อินซูลิน (Insulin) และกลูคากอน (Glucagon) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
2.ต่อมไร้ท่อที่จำเป็นน้อยต่อร่างกาย (Non – Essential Endocrine Gland) คือ ต่อมไร้ท่อที่หากร่างกายขาดไป อาจไม่ส่งผลให้เสียชีวิตในทันที โดยต่อมไร้ท่อที่จำเป็นน้อยต่อร่างกาย มีดังนี้
2.1 ต่อมใต้สมอง (Pituitary) คือ ต่อมขนาดเล็กใต้สมอง ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่สำคัญ ได้แก่
・โกรท ฮอร์โมน (Growth Hormone) ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย
・ โกนาโดโทรฟิก ฮอร์โมน (Gonadotrophic Hormone) ทำหน้าที่กระตุ้นการสร้างเซลล์สืบพันธุ์
・ แอนติไดยูเรติก ฮอร์โมน (Antidiuretic Hormone :ADH) ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลน้ำในร่างกาย
2.2 ต่อมไทรอยด์ (Thyroid) คือ ต่อมไร้ท่อขนาดใหญ่บริเวณด้านหน้าของลำคอใกล้กับหลอดลม ทำหน้าที่สร้างไทรอกซิน (Thyroxin) ฮอร์โมนที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของกระดูก, สมอง และระบบประสาท ควบคุมอัตราเมแทบอลิซึมในร่างกาย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและรูปร่าง เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่
2.3 ต่อมไพเนียล (Pineal Grand) คือ ต่อมไร้ท่อขนาดเล็กที่ผลิตสารเมลาโทนิน (Melatonin) ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของต่อมเพศก่อนวัยหนุ่มสาว ควบคุมการนอนหลับ และกระตุ้นการปรับเปลี่ยนระบบนาฬิกาชีวภาพ
2.4 ต่อมไทมัส (Thymus Grand) คือ ต่อมไร้ท่อด้านหน้าทรวงอกที่ผลิตไทโมซิน (Thymosin) ฮอร์โมนที่สร้างเสริมภูมิคุ้มกัน โดยเป็นต่อมที่เจริญเต็มที่ตั้งแต่อยู่ในวัยทารกจนถึงอายุราว 6 ปี ก่อนจะเสื่อมสภาพ และฝ่อไปในท้ายที่สุด
2.5 ต่อมเพศ (Gonads) คือ อัณฑะในเพศชาย และรังไข่ในเพศหญิง มีหน้าที่สำคัญ คือ สร้างเซลล์สืบพันธ์ุ และสร้างฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธ์ุ รวมไปถึงการควบคุมลักษณะเด่นของเพศ ฮอร์โมนที่สำคัญ ได้แก่ เทสทอสเตอโรน (Testosterone) ในเพศชาย เอสโตรเจน (Estrogen) และโพรเจสเทอโรน (Progesterone) ในเพศหญิง
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หวังว่าจะช่วยให้น้อง ๆ เข้าใจการทำงานและเห็นความสำคัญของระบบต่อมไร้ท่อและฮอร์โมนกันมากขึ้นนะ
สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่กำลังมองหาที่เรียนพิเศษ หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็มาปรึกษาพี่ TUTOR VIP ได้นะ พี่ ๆ ยินดีให้คำปรึกษาเสมอ
บทความต่อไป TUTOR VIP จะมีสาระอะไรมาฝากอีกนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ
ด้วยความร่วมมือของ TUTOR-VIP X Clearnote Thailand
บทความล่าสุด
สังคมและประวัติศาสตร์
“อารยธรรมโรมัน” อารยธรรมที่ทรงอิทธิพลถึงปัจจุบัน
สังคมและประวัติศาสตร์
สรุป ‘อารยธรรมกรีก’ อารยธรรมโบราณที่มีเสน่ห์
สังคมและประวัติศาสตร์
เจาะลึก ‘อารยธรรมอียิปต์’! อารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลก