ปฏิกิริยาเคมีในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต คือ เรื่องแรก ๆ ที่จะได้เรียนกันในวิชาชีววิทยา อาจดูเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก แต่จริง ๆ แล้ว ปฏิกิริยาเคมี อยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด บทความนี้พี่ TUTOR VIP จะมาสรุปแบบย่อยง่ายให้น้อง ๆ เข้าใจกันได้ไม่ยากถ้าพร้อมแล้วตามไปดูกันเลย
เลือกอ่านเนื้อหาที่ต้องการ
ปฏิกิริยาเคมีคืออะไร?
“ปฏิกิริยาเคมี” คือการเปลี่ยนแปลงโมเลกุลของสารตั้งต้น (Reactants) จากการสลายแล้วสร้างพันธะใหม่ และอะตอมจัดเรียงตัวใหม่เกิดมาเป็นผลิตภัณฑ์ (Product) โดยการกระตุ้นจากเอนไซม์ (Enzyme)
การเกิดปฏิกิริยาเคมีในชีวิตประจำวัน เช่น การเกิดสนิมเหล็ก, การสุกของผลไม้, การย่อยอาหาร เป็นต้น โดยน้อง ๆ สามารถสังเกตได้ว่ามีการเกิดปฏิกิริยาเคมีได้ ดังนี้
- มีกลิ่น
- เกิดตะกอน
- เกิดฟองแก๊ส
- เกิดการระเบิด
- เกิดประกายไฟ
- อุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลงไป
โดยสิ่งที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมี มีดังนี้
- อนุภาคของสารมีการชนกัน
- อนุภาคที่ชนกันต้องมีพลังงานเพียงพอที่จะทำให้การชนกันนั้นแรงพอที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
- อนุภาคต้องชนกันในตำแหน่งและทิศทางที่เหมาะสม
- มีพลังงานกระตุ้น (Activation Energy) ซึ่งมีความสำคัญในการเกิดปฏิกิริยาเคมี
ประเภทของปฏิกิริยาเคมี
ปฏิกิริยาเคมีสามารถแบ่งตามการเปลี่ยนแปลงของระดับพลังงานได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
1. ปฏิกิริยาดูดพลังงาน (Endergonic reaction)
ปฏิกิริยาดูดพลังงาน คือ ปฏิกิริยาที่สารตั้งต้นดูดพลังงานเข้ามาจนทำให้ผลิตภัณฑ์มีพลังงานสูงขึ้น เช่น การสังคราะห์แสง, การสังเคราะห์โปรตีน เป็นต้น
2. ปฏิกิริยาคายพลังงาน (Exergonic reaction)
ปฏิกิริยาคายพลังงาน จะตรงข้ามกันกับปฏิกิริยาดูดพลังงาน คือ ปฏิกิริยาที่สารตั้งต้นคายพลังงานออกไปจนทำให้ผลิตภัณฑ์มีพลังงานต่ำลง เช่น การหายใจในระดับเซลล์เป็นต้น
เอนไซม์คืออะไร?
เอนไซม์ คือ สารกลุ่มโปรตีนที่พบได้ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเคมี (Catalyst) ให้เกิดเร็วขึ้น โดยการลดพลังงานกระตุ้นของปฏิกิริยา
โดยคุณสมบัติของเอนไซม์ มีดังนี้
- เป็นสารจำพวกโปรตีน โดยมากมีโมเลกุลขนาดใหญ่
- เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst)
- ทำปฏิกิริยากับสารเฉพาะอย่าง เช่น ไลเปสย่อยไขมัน, อะไมเลสย่อยแป้ง ไม่ย่อยอย่างอื่น ซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของเอนไซม์
- เอนไซม์จะไม่เปลี่ยนแปลง, ไม่เปลี่ยนสภาพ และไม่สูญหาย หลังจากทำปฏิกิริยาแล้ว
- ทำงานได้ดีในช่วงอุณหภูมิ และความเป็นกรดเบส (pH) ที่พอเหมาะ โดยสำหรับในสัตว์ทั่วไปจะอยู่ที่ 35-40 องศาเซลเซียส และ 50-60 องศาเซลเซียสสำหรับพืช
- มีเอนไซม์เพียงเล็กน้อยก็สามารถทำงานได้
ปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานของเอนไซม์
ปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ ได้แก่
1. อุณหภูมิ
อุณหภูมิที่เหมาะสมจะช่วยให้เอนไซม์ทำงานได้ดีขึ้น โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประเภทของเอนไซม์ โดยเอนไซม์ในร่างกายมนุษย์จะทำงานได้ดีในอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส
2. ความเป็นกรดเบส (pH)
ค่า pH ที่เหมาะสมจะทำให้ปฏิกิริยาของผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น เช่น เอนไซม์เพปซินในกระเพาะอาหารจะทำงานได้ดีในสภาวะที่เป็นกรด
3. ปริมาณเอนไซม์และสารตั้งต้น
หากความเข้มข้นของเอนไซม์เพิ่มขึ้นก็จะเร่งให้เกิดปฏิกิริยาได้เร็วขึ้น และเมื่อความเข้มข้นของเอนไซม์คงที่แล้ว หากเพิ่มความเข้มข้นของสารตั้งต้นไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดหนึ่ง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมีก็จะคงที่
4. สารผลิตภัณฑ์ของปฏิกิริยา
หากมีความเข้มข้นน้อยหรือไม่มีเลย จะเร่งให้เกิดปฏิกิริยาได้เร็วขึ้น หากมีมากจะทำให้อัตราการเกิดปฏิกิริยาลดลง เพราะทำให้เกิดปฏิกิริยาย้อนกลับขึ้น
5. สารที่กระตุ้นให้เอนไซม์ทำงานได้ดีขึ้น (Activator)
หากมีสารกระตุ้นด้วยจะทำให้เกิดปฏิกิริยาได้เร็วขึ้น
6. ตัวยับยั้งเอนไซม์
หากมีตัวยับยั้งเอนไซม์จะทำให้เอนไซม์ทำงานไม่ได้ ปฏิกิริยาจะหยุดชะงักลง
เป็นอย่างไรกันบ้าง เห็นไหมว่าปฏิกิริยาเคมีนั้นอยู่รอบตัวเรา หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้น้อง ๆ เข้าใจปฏิกิริยาเคมีได้มากขึ้นนะ
สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่กำลังมองหาที่เรียนพิเศษ หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็มาปรึกษาพี่ TUTOR VIP ได้นะ พี่ ๆ ยินดีให้คำปรึกษาเสมอ
บทความต่อไป TUTOR VIP จะมาแนะนำอะไรอีกนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ
ด้วยความร่วมมือของ TUTOR-VIP X Clearnote Thailand
บทความล่าสุด
ภาษาไทย
ปูพื้นฐานความรู้ภาษาไทยเรื่อง คำราชาศัพท์
ภาษาไทย
ลักษณะคำไทยที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตและภาษาเขมร
วิทยาศาสตร์
พอลิเมอร์ คืออะไร? สรุปรวมให้ไว้แล้ว