สรุปลำดับราชวงศ์ของไทย

     สวัสดีน้อง ๆ ทุกคน  บทความนี้จะมาในเรื่อง “ลำดับราชวงศ์ของไทย” ซึ่งเป็นหัวข้อที่จะได้เจอแน่นอนทั้งในห้องเรียนและในการสอบ บทความนี้พี่จะมาสรุปตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัยไปจนถึงปัจจุบัน โดยจะเน้นเนื้อหาในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นหลัก ถ้าพร้อมแล้วตามไปศึกษาประวัติศาสตร์พร้อมกันในบทความเลย!

 

ราชวงศ์ในสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์

 

ราชวงศ์ในสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ - อาณาจักรสุโขทัย

สมัยอาณาจักรสุโขทัย

    อาณาจักรสุโขทัยได้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ.1781 มีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์พระร่ว โดยมีกษัตริย์ปกครอง 9 พระองค์ อยู่ในราชวงศ์พระร่วงทั้งหมด ก่อนจะเข้ารวมกับกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 1981 รวมระยะเวลาเกือบ 200 ปี

ราชวงศ์ในสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ - สมัยกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงศรีอยุธยา

    กรุงศรีอยุธยาสถาปนาขึ้นใน พ.ศ.1894 โดยมีสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์อู่ทอง และสิ้นสุดในปี พ.ศ.2310 ในเหตุการณ์การเสียกรุงครั้งที่ 2 รวมระยะเวลาที่เป็นราชธานี 417 ปี มีกษัตริย์ปกครอง 33 พระองค์ อยู่ใน 5 ราชวงศ์ ดังนี้

  • ราชวงศ์อู่ทอง มีกษัตริย์ 3 พระองค์ ครองราชย์รวมกันยาวนาน 41 ปี
  • ราชวงศ์สุพรรณภูมิ มีกษัตริย์ 13 พระองค์ ครองราชย์รวมกันยาวนาน 178 ปี
  • ราชวงศ์สุโขทัย มีกษัตริย์ 7 พระองค์ ครองราชย์รวมกันยาวนาน 61 ปี
  • ราชวงศ์ปราสาททอง มีกษัตริย์ 4 พระองค์ ครองราชย์รวมกันยาวนาน 58 ปี
  • ราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีกษัตริย์ 6 พระองค์ ครองราชย์รวมกันยาวนาน 79 ปี
ราชวงศ์ในสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ - สมัยกรุงธนบุรี

สมัยกรุงธนบุรี

    กรุงธนบุรี เป็นราชธานีในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียง 15 ปี (พ.ศ.2310 – พ.ศ.2325) มีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นกษัตริย์เพียงพระองค์เดียว

 

ราชวงศ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์และพระราชกรณียกิจสำคัญ

 

ราชวงศ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

    ราชวงศ์จักรี เป็นราชวงศ์ที่ปกครองประเทศไทยต่อจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยมีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พระนามเดิม ทองด้วง ทรงสืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยา) เป็นผู้ทรงสถาปนาราชวงศ์เมื่อ พ.ศ. 2325 โดยเรียกสมัยนี้ว่า “สมัยกรุงรัตนโกสินทร์”

    คำว่า “จักรี” พ้องเสียงกับคำว่า “จักร” และ “ตรี” ซึ่งเป็นเทพอาวุธของพระนารายณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแสงจักรและพระแสงตรีไว้ 1 สำรับ และกำหนดให้ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรีสืบมาจนถึงปัจจุบัน

 


    พระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรี มีพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ดังนี้

ราชวงศ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ - รัชกาลที่ 1

รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจักรีบรมนาถฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

พระราชประวัติ 

    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร (หรือกรุงรัตนโกสินทร์) เป็นราชธานี และทรงสถาปนาราชวงศ์จักรี มีพระนามเดิมว่า ด้วง หรือ ทองด้วง พระราชบิดา คือ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระนามเดิมว่า ทองดี สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) พระราชมารดาพระนามเดิมว่า หยก หรือ ดาวเรือง เสด็จพระบรมราชสมภพเมื่อวันพุธ ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352

พระราชกรณียกิจสำคัญ

    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองนานัปการ โดยเฉพาะในด้านการสงคราม ทรงทำศึกสงครามป้องกันและขยายพระราชอาณาจักรหลายครั้ง ครั้งสำคัญในรัชกาล คือ สงครามเก้าทัพใน พ.ศ. 2328 ซึ่งได้รับชัยชนะเป็นที่เลื่องลือในยุทธวิธีการรบของกองทัพไทยที่มีกำลังพลน้อยกว่าข้าศึกที่ยกมาถึงเก้าทัพ

ราชวงศ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ - รัชกาลที่ 2

รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระปรมพงษเชษฐ์มเหศวรสุนทรฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระราชประวัติ 

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฉิม เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เสด็จพระบรมราชสมภพ เมื่อวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 เสด็จสวรรคต เมื่อวันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367

พระราชกรณียกิจสำคัญ

    พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญต่อบ้านเมืองและราษฎรหลายด้าน เพื่อให้เกิดความมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองของชาติไทย ซึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ถือว่าเป็น “ยุคทองของวรรณคดี” เพราะวรรณคดีของชาติรุ่งเรืองมาก ทรงส่งเสริมศิลปะทุกประเภท ทรงพระปรีชาสามารถในงานวรรณกรรมและบทละครป็นอย่างยิ่ง ทรงพระราชนิพนธ์งานวรรณกรรมและบทละครต่าง ๆ ที่ทรงคุณค่าไว้จำนวนมาก เช่น เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน (บางตอน), บทละครเรื่องอิเหนา, รามเกียรติ์, คาวี, ไกรทอง, มณีพิชัย, สังข์ทอง, กาพย์เห่เรือ, และบทพากย์โขนตอนเอราวัณ, นาคบาศ และนางลอย เป็นต้น

ราชวงศ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ - รัชกาลที่ 3

รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสษฐ์มหาเจษฎาบดินทร์ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชประวัติ 

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าทับ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับเจ้าจอมมารดาเรียม เสด็จพระบรมราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 เสด็จสวรรคต เมื่อวันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394

พระราชกรณียกิจสำคัญ

    ในรัชสมัยของพระองค์ ได้รับการยกย่องว่ามีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจและศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงมีพระปรีชาสามารถในการนำรายได้เข้าสู่ท้องพระคลังมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ ครั้นเมื่อเสวยราชย์แล้ว ทรงสร้างความเป็นปึกแผ่นทางเศรษฐกิจด้วยการประหยัดรายจ่ายและเพิ่มพูนรายได้แผ่นดิน โดยการแก้ไขวิธีเก็บภาษีอากรแบบเดิม

ราชวงศ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ - รัชกาลที่ 4

รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชประวัติ 

    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เสด็จพระบรมราชสมภพ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411

พระราชกรณียกิจสำคัญ

    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยต้องเผชิญกับการคุกคามโดยการแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลของจักรวรรดินิยมตะวันตกรอบด้าน โดยเฉพาะอังกฤษกับฝรั่งเศส ดังนั้น เพื่อความอยู่รอดของประเทศไทยในฐานะประเทศเอกราชประเทศเล็กซึ่งด้อยกว่าอังกฤษและฝรั่งเศส จึงต้องดำเนินนโยบายการเจรจาผ่อนปรนทางการทูต การทำสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์กับประเทศต่าง ๆ

ราชวงศ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ - รัชกาลที่ 5

รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชประวัติ 

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสด็จพระบรมราชสมภพ เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 เสด็จสวรรคต เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453

พระราชกรณียกิจสำคัญ

    พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีมากมายเป็นอเนกประการ แต่ที่อยู่ในความทรงจำของอาณาประชาราษฎร์ ได้แก่ พระราชกรณียกิจที่ทรงเลิกทาส โดยใช้วิธีผ่อนปรนเป็นระยะ พอมีเวลาให้ผู้เป็นนายและตัวทาสเองได้ปรับตัว และทรงพระราชดำริเริ่มจัดการศึกษาในทุกระดับ ทรงตั้งโรงเรียนหลวงขึ้น เพื่อให้การศึกษาแก่คนทุกชั้นตั้งแต่เจ้านายในราชตระกูลไปจนถึงราษฎรสามัญ 

    ในตอนกลางและตอนปลายรัชกาลของพระองค์การศึกษาเจริญก้าวหน้ามากขึ้น มีโรงเรียนวิชาชีพชั้นสูงหลายแห่งเกิดขึ้น เช่น โรงเรียนนายร้อยโรงเรียนนายเรือ, โรงเรียนกฎหมาย, โรงเรียนราชแพทยาลัย และโรงเรียนยันตรศึกษา เป็นต้น

ราชวงศ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ - รัชกาลที่ 6

รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชประวัติ 

    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระบรมราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 1 มกราคมพ.ศ. 2424 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

พระราชกรณียกิจสำคัญ

    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณูปการต่อประชาชนชาวไทยและประเทศมากมาย ด้วยพระปรีชาสามารถดุจนักปราชญ์ของพระองค์โดยทรงวางแผนการพัฒนาด้านต่าง ๆ เริ่มจากการที่พระองค์มีพระราชดำริในการที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศซึ่งทรงเน้นการให้การศึกษาแก่พสกนิกรเป็นประการสำคัญ รวมไปถึงการจัดทำสำมะโนประชากร และทรงคิดนามสกุลพระราชทานแก่ข้าราชการ, พ่อค้า, ประชาชน กว่า 6,432 นามสกุล เป็นต้น

ราชวงศ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ - รัชกาลที่ 7

รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชประวัติ 

    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระบรมราชสมภพ เมื่อวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 เสด็จสวรรคต เมื่อวันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484

พระราชกรณียกิจสำคัญ

    พระองค์ทรงริเริ่มสิ่งใหม่ให้ปรากฏในแผ่นดินหลายประการ ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะการวางรากฐานระบบข้าราชการพลเรือนไทยในยุคปัจจุบัน, การพระราชทานปริญญาบัตรสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาเป็นครั้งแรก เป็นต้น

ราชวงศ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ - รัชกาลที่ 8

รัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ พระอัฐมรามาธิบดินทร

พระราชประวัติ 

    พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร มีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระบรมราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 เสด็จสวรรคต เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489

พระราชกรณียกิจสำคัญ

    พระราชกรณียกิจในการบริหารจัดการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ด้านการปกครอง ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับที่ 2 ประกาศใช้หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับที่ 1 พุทธศักราช 2475 ที่ประกาศใช้มาเป็นเวลา 14 ปี

ราชวงศ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ - รัชกาลที่ 9

รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

พระราชประวัติ 

    พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระนามเดิมว่าพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระบรมราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พระราชกรณียกิจสำคัญ

    พระราชกรณียกิจของพระองค์ในระยะเริ่มแรก ทรงเน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านำไปสู่การพัฒนา เช่น โครงการแกล้งดิน เพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวให้สามารถทำการเพาะปลูกได้, โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แก่ประชาชน เป็นต้น

ราชวงศ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ - รัชกาลที่ 10

รัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

พระราชประวัติ 

    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระนามเดิมว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน

พระราชกรณียกิจสำคัญ

    พระราชภาระสำคัญประการหนึ่งที่ทรงปฏิบัติต่อเนื่อง คือ การเสด็จแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีป นอกจากจะเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นแล้ว ยังได้ทอดพระเนตรกิจการอันเป็นประโยชน์ต่าง ๆ อันจะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะด้านการทหาร

 

    หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ และช่วยให้น้อง ๆ เข้าใจเรื่องลำดับราชวงศ์ของไทยและพระราชกรณียกิจของรัชกาลต่าง ๆ” มากขึ้นนะ

    ส่วนใครที่กำลังมองหาที่ติวตัวต่อตัว หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็มาปรึกษาพี่ TUTOR VIP ได้นะ พี่ ๆ ยินดีให้คำปรึกษาเสมอ


   บทความต่อไป TUTOR VIP จะมาแนะนำอะไรอีกนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ

 

ด้วยความร่วมมือของ TUTOR-VIP X Clearnote Thailand

 

สนใจเรียนพิเศษประวัติศาสตร์ตัวต่อตัว ติดต่อได้ที่👇

Line logo LINE ID: @tutorvip หรือคลิ๊ก https://lin.ee/UQ3gQwP
 
ดูอัตราค่าเรียนพิเศษได้ที่ : https://tutor-vip.com/course/learning-price/
 

บทความล่าสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save