“ตรรกศาสตร์” เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จะได้เรียนกันในระดับชั้น ม.ปลาย เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการนำไปต่อยอดในการเรียนคณิตศาสตร์ และศาสตร์อื่น ๆ เพราะเกี่ยวข้องกับการคิดโดยใช้เหตุผล ดูเป็นเรื่องที่น่าสนุกใช่มั้ยเอ่ย?
บทความนี้ พี่TUTOR VIP ได้สรุปหัวข้อสำคัญเกี่ยวกับ “ตรรกศาสตร์” แบบกระชับ เพื่อให้น้อง ๆ เข้าใจกันได้ง่ายยิ่งขึ้น ตามไปดูกันเลย
เลือกอ่านเนื้อหาที่ต้องการ
ตรรกศาสตร์ คืออะไร?
ตรรกศาสตร์ คือ ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับความคิดและการใช้เหตุผล โดย “ตรรกะ” หมายถึง การคิดโดยใช้เหตุผล และ “ศาสตร์” หมายถึง วิชาความรู้
ตรรกศาสตร์ ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการค้นหาเหตุผล หรือการพิสูจน์ทฤษฎีต่างๆโดยใช้หลักการคิดอย่างมีเหตุผลจึงถือเป็นพื้นฐานสำคัญในหลายสาขาวิชาอีกด้วย ไม่เฉพาะแต่ในวิชาคณิตศาสตร์เท่านั้น
ประพจน์ คืออะไร?
ประพจน์ คือ ประโยคบอกเล่าหรือประโยคปฏิเสธที่แสดงความเป็นจริง(True) หรือเป็นเท็จ(False) อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เช่น
- วาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
เป็นประพจน์ที่มีค่าความเป็นจริง (T)
- 1+1 = 3
เป็นประพจน์ที่มีค่าความเป็นเท็จ (F)
- เขาเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง
ไม่เป็นประพจน์ เนื่องจากประโยคนี้เป็นประโยคเปิด ซึ่งเป็นประโยคที่มีตัวแปร ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นจริงหรือเท็จจนกว่าจะแทนค่าในตัวแปร
ตัวแปรในประโยคนี้คือ “เขา” ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใคร แต่หากแทนค่า “เขา” ด้วย “ธงไชย แมคอินไตย์” จะทำให้ประโยคนี้กลายเป็นประพจน์ที่มีค่าความเป็นจริง (T)
ประพจน์นิยมเขียนแทนค่าด้วยตัวพิมพ์เล็กเป็น p,q,r,s
ตัวเชื่อมประพจน์ คืออะไร?
ตัวเชื่อมประพจน์ ใช้ในการเชื่อมประพจน์เข้าด้วยกัน โดยในทางตรรกศาสตร์แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
- ตัวเชื่อม “และ” (and) เขียนแทนด้วยสัญลักษณ์ “∧”
เช่น p∧q จะหมายถึง p และ q - ตัวเชื่อม “หรือ” (or) เขียนแทนด้วยสัญลักษณ์ “∨”
เช่น p∨q จะหมายถึง p หรือ q - ตัวเชื่อม “ถ้า…แล้ว” (If…then) เขียนแทนด้วยสัญลักษณ์ “→”
เช่น p→q จะหมายถึง ถ้า p แล้ว q - ตัวเชื่อม “ก็ต่อเมื่อ” (if and only if) เขียนแทนด้วยสัญลักษณ์ “↔”
เช่น p↔q จะหมายถึง p ก็ต่อเมื่อ q
ตัวบ่งปริมาณ คืออะไร?
ตัวบ่งปริมาณ คือ ตัวที่ใช้แทนค่าในประโยคเปิดซึ่งเป็นประโยคที่ไม่ทราบค่าหรือตัวแปรเพื่อให้ประโยคเปิดกลายเป็นประพจน์ได้ ในทางตรรกศาสตร์ มี 2 ตัว คือ
- ตัวบ่งปริมาณสำหรับทุกตัว (for all) แทนด้วยสัญลักษณ์ ∀
เช่น ∀x จะหมายถึง สำหรับ x ทุกตัว - ตัวบ่งปริมาณสำหรับบางตัว (for some) แทนด้วยสัญลักษณ์ ∃
เช่น ∃x จะหมายถึง สำหรับ x บางตัว
การอ้างเหตุผล คืออะไร?
การอ้างเหตุผล คือ การใช้เหตุซึ่งอาจมีหลายเหตุมาอ้างเพื่อให้เกิดผล แล้วดูว่าสมเหตุสมผล (Valid) หรือไม่สมเหตุสมผล (Invalid) การอ้างเหตุผล ประกอบด้วย
- เหตุ คือ เหตุที่ถูกกำหนดมาให้ แทนด้วยสัญลักษณ์ P1,P2,P3,…Pn
- ผล คือ ผลสรุปจากเหตุ แทนด้วยสัญลักษณ์ Q
การอ้างเหตุผลจะสมเหตุสมผล (valid) หรือ ไม่สมเหตุสมผล (invalid) ทําได้โดยการนําเหตุ เชื่อมกันด้วยตัวเชื่อม“และ” แล้วใช้ตัวเชื่อม “ถ้า…แล้ว” เชื่อมระหว่างเหตุกับผล คือการนำเหตุมาเชื่อมกันด้วย ∧ และนำ → มาเชื่อมกับผลนั่นเอง เช่น
- ตรวจสอบ (P1∧P2∧P3∧…∧Pn) → Q หากเป็นสัจนิรันดร์จะถือว่าการอ้างเหตุผลนี้ สมเหตุสมผล (Valid)
- หากไม่เป็นสัจนิรันดร์จะถือว่าการอ้างเหตุผลนี้ ไม่สมเหตุสมผล (Invalid)
นี่เป็นเพียงบางส่วนของตรรกศาสตร์เท่านั้น ในการเรียนจริงน้อง ๆ จะได้พบกับความน่าสนใจของตรรกศาสตร์อีกมากเลย
หวังว่าบทความนี้จะทำให้น้อง ๆ เข้าใจและชอบตรรกศาสตร์กันมากขึ้นนะ
ส่วนใครที่กำลังมองหาที่ติวคณิตศาสตร์ หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็มาปรึกษาพี่ TUTOR VIP ได้นะ พี่ ๆ ยินดีให้คำปรึกษาเสมอ
บทความต่อไป TUTOR VIP จะมาแนะนำอะไรอีกนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ
ด้วยความร่วมมือของ TUTOR-VIP X Clearnote Thailand
บทความล่าสุด
สังคมและประวัติศาสตร์
สรุปพุทธประวัติแบบกระชับ!
สังคมและประวัติศาสตร์
สรุปรวม “ศาสนาสำคัญของโลก” ที่ต้องรู้!
สังคมและประวัติศาสตร์
รากฐานแห่ง“อารยธรรมอินเดีย” อารยธรรมที่ส่งต่อถึงปัจจุบัน