จากบทความก่อนหน้าที่ได้พูดถึงอารยธรรมในฝั่งตะวันตกไปแล้ว บทความนี้ พี่ TUTOR VIP จะพามาแนะนำ “อารยธรรมอินเดีย” ซึ่งเป็นหนึ่งในอารยธรรมทางฝั่งตะวันออกที่มีความเก่าแก่และร่วมสมัยกับอารยธรรมอียิปต์และเมโสโปเตเมีย อารยธรรมอินเดียจะมีความน่าสนใจอย่างไร ตามไปดูกันในบทความเลย!
อารยธรรมอินเดีย คืออะไร?
อารยธรรมอินเดีย คือ อารยธรรมที่กำเนิดขึ้นบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียโบราณ ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำกว้างใหญ่ที่มีแม่น้ำสินธุและแม่น้ำสาขาเป็นจำนวนมากไหลผ่าน ทำให้ดินแดนนี้มีความอุดมสมบูรณ์
อารยธรรมอินเดียโบราณเริ่มเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่ประมาณ 2,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยเฉพาะในช่วงของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งมีการพัฒนาเมืองที่มีระบบการจัดการที่ซับซ้อนคือ “เมืองฮารัปปา” และ “เมืองโมเฮนโจดาโร” จนกระทั่งราว 1,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวอารยันเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและสังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาในภูมิภาคนี้จนถึงปัจจุบัน
อารยธรรมอินเดียในแต่ละยุคสมัย
อารยธรรมอินเดีย หลังยุคอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ สามารถแบ่งเป็นสมัยต่าง ๆ ได้ดังนี้
-
- 1. สมัยพระเวท (1,500–500 ปีก่อนคริสตกาล)
เป็นช่วงเวลาที่สำคัญในประวัติศาสตร์อินเดีย ซึ่งเริ่มประมาณ 1500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในช่วงนี้ ชาวอารยันได้อพยพจากพื้นที่ในเอเชียกลางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุ การเข้ามาของชาวอารยันส่งผลกระทบต่อชาวพื้นเมืองที่อยู่มาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวดราวิเดียน (Dravidian) โดยมีการกล่าวถึงว่าชาวดราวิเดียนถูกบีบให้อพยพไปยังพื้นที่ทางตอนใต้ของอินเดีย
แม้ว่าจะมีความตึงเครียดระหว่างสองกลุ่มนี้ แต่การเข้ามาของชาวอารยันก็ทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม ส่งผลให้เกิดอารยธรรมอินโด-อารยัน (Indo-Aryan Civilization) ที่มีลักษณะเฉพาะตัว โดยมีการสร้างและบันทึกพระเวท (Vedas) ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญในศาสนาฮินดู และมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมและสังคมในอนุทวีปอินเดียอย่างมาก
สมัยพระเวทจึงถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการพัฒนาศาสนา วรรณกรรม และระบบสังคมของชาวอารยัน ซึ่งยังคงมีผลกระทบต่อวัฒนธรรมอินเดียในปัจจุบัน
-
- 2. สมัยจักรวรรดิเมารยะ (322–185 ปีก่อนคริสตกาล)
เป็นราชวงศ์แรกที่รวมแว่นแคว้นในชมพูทวีปให้เป็นปึกแผ่นโดยพระเจ้าจันทรคุปตเมารยะ จักรวรรดิเมารยะมีความรุ่งเรืองสูงสุดในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาและสร้างเสาศิลาจารึกที่จารึกหลักธรรมสำคัญ
จักรวรรดิเมารยะเริ่มเสื่อมถอยประมาณ 50 ปีหลังจากการสิ้นรัชกาลของพระเจ้าอโศกมหาราช จนกระทั่งล่มสลายในปี 185 ปีก่อนคริสต์ศักราช
-
- 3. สมัยจักรวรรดิคุปตะ (ค.ศ.320–550)
เป็นยุคที่ถือได้ว่าเป็นยุคทองของอินเดีย มีความเจริญรุ่งเรืองในด้านศิลปวัฒนธรรม การเมือง และการค้าขายกับต่างประเทศ พระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 1 ได้รวบรวมอำนาจและตั้งศูนย์กลางการปกครองที่แคว้นมคธ ในสมัยนี้พระพุทธศาสนายังมีความรุ่งเรือง และมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่สำคัญ
ในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มีความก้าวหน้า โดยเริ่มมีการใช้ระบบเลข 0-9 ซึ่งมีผลกระทบต่อการพัฒนาทางคณิตศาสตร์ในอนาคต
จักรวรรดิคุปตะล่มสลายเนื่องจากการเสื่อมอำนาจภายใน ความขัดแย้งระหว่างผู้สืบทอดราชสมบัติ การรุกรานจากภายนอก รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ทำให้ไม่สามารถรักษาอำนาจและความมั่นคงได้ หลังการล่มสลาย เมืองเล็ก ๆ และแคว้นต่าง ๆ ได้แตกออกไปปกครองกันเอง ศาสนาฮินดูเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในขณะที่บทบาทของพระพุทธศาสนาเริ่มลดลง
-
- 4. สมัยสุลต่านแห่งเดลี (ค.ศ.1206–1526)
หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิคุปตะ เมืองเล็ก ๆ และแคว้นต่าง ๆ ในอินเดียได้แตกออกไปปกครองกันเอง ทำให้ไม่มีความเป็นเอกภาพและไม่สามารถรวมกันเป็นปึกแผ่นได้ ส่งผลให้ชาวมุสลิมเติร์กสามารถเข้ามาโจมตีและตั้งรัฐสุลต่านที่เดลีขึ้นปกครองทางตอนเหนือของอินเดียได้สำเร็จ ในสมัยนี้ วัฒนธรรมฮินดูเริ่มผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมอิสลาม ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ซึ่งมีอิทธิพลต่อศิลปะ สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตของผู้คนในภูมิภาคนี้
-
- 5. สมัยจักรวรรดิโมกุล (ค.ศ.1526–1858)
จักรวรรดิโมกุลเข้ามามีอำนาจในอินเดียได้โดยเริ่มจากบาบูร์ที่เอาชนะสุลต่านแห่งเดลีในยุทธการปานิบัต และต่อยอดโดยพระเจ้าอัคบาร์ที่ขยายอาณาเขตและสร้างเสถียรภาพด้วยนโยบายการบริหารที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการผสมผสานวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทำให้จักรวรรดิเติบโตอย่างมั่นคงในช่วงเวลานั้น ต่อมาเริ่มเสื่อมอำนาจและตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี ค.ศ. 1858 หลังจากเหตุการณ์กบฏอินเดียในปี ค.ศ. 1857
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับอารยธรรมอินเดีย
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับอารยธรรมอินเดียแบ่งออกเป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้
ด้านสังคมและวัฒนธรรม
ระบบวรรณะ
คัมภีรพระเวท ได้แบ่งคนออกเป็น 4 วรรณะ ได้แก่
- วรรณะพราหมณ์ คือ ผู้ประกอบพิธีทางศาสนา เชื่อว่ากำเนิดมาจากปากของพระพรหม
- วรรณะกษัตริย์ คือ ผู้นำรัฐทำหน้าที่ปกป้องประชาชน เชื่อว่ากำเนิดมาจากหน้าอกของพระพรหม
- วรรณะแพศย์ คือ ผู้ประกอบอาชีพพาณิชยกรรม, เกษตรกรรม ซึ่งเป็นวรรณะส่วนใหญ่ของคนในสังคม เชื่อว่ากำเนิดมาจากมือของพระพรหม
- วรรณะศูทร คือ กรรมกร เชื่อว่ากำเนิดมาจากเท้าของพระพรหม
หากมีการแต่งงานข้ามวรรณะ บุตรที่เกิดมาจะกลายเป็น “จัณฑาล” ซึ่งเป็นที่รังเกียจของคนในสังคม
ด้านศาสนา
อารยธรรมอินเดียเป็นแหล่งกำเนิดศาสนาสำคัญ ดังนี้
- ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู คือ ศาสนาที่มีการนับถือเทพเจ้าหลายองค์ และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวอินเดีย โดยมีหลักคำสอนเกี่ยวกับกรรมและการเกิดใหม่
- ศาสนาพุทธ คือ ศาสนาแบบอเทวนิยม มีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา สอนให้ผู้คนพัฒนาจิตใจเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์
- ศาสนาเชน คือ ศาสนาแบบอเทวนิยมที่เกิดขึ้นในยุคเดียวกันกับศาสนาพุทธ มีพระมหาวีระเป็นศาสดา โดยเน้นการไม่ทำร้ายสิ่งมีชีวิตและการถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
- ศาสนาซิกข์ คือ ศาสนาที่เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว (วาหคุรู) มีแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจากทั้งฮินดูและอิสลาม รวมถึงหลักคำสอนที่เน้นความเท่าเทียมและการบริการต่อผู้อื่น
ด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรม
ซากเมืองฮารัปปาและโมเฮนโจดาโร ในสมัยอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ
แสดงถึงการวางผังเมืองอย่างดีรวมไปถึงการวางสาธารณูปโภคเพื่อประโยชน์ใช้สอยสูงสุดมากกว่าความสวยงาม
สถูปและเสาหินในสมัยจักรวรรดิเมารยะ
การสร้างสถูปเสาหินในสมัยจักรวรรดิเมารยะ เช่น สถูปสารจี, เสาอโศก แสดงถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนา
สุสานทัชมาฮาล
สถาปัตยกรรมโมกุล สร้างด้วยหินอ่อน ประดับประดาด้วยหินมีค่า สื่อถึงความรักและความงาม และเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
ประติมากรรมพระพุทธรูปแบบคันธาระ, มถุรา, และอมราวดี
- พระพุทธรูปแบบคันธาระ (Gandhara)
คือ พระพุทธรูปที่มีลักษณะของการผสมผสานศิลปะกรีกและอินเดีย โดยมักมีการแสดงออกทางอารมณ์และรายละเอียดของร่างกายที่มีความสมจริง เช่น การแสดงกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติ พระพุทธรูปเหล่านี้มักทำจากหินฟิลไลต์หรือหินไมกา และบางครั้งใช้วัสดุอื่น ๆ เช่น สำริด มีการประดับด้วยทองคำหรือวัสดุมีค่าอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปประทับนั่งจากคันธาระที่ค้นพบในจามาลการ์ฮี ประเทศปากีสถาน มีขนาดสูงประมาณ 95 ซม. กว้าง 53 ซม.
- พระพุทธรูปแบบมถุรา (Mathura)
คือ พระพุทธรูปที่มีพระพักตร์กลมมนและเต็มไปด้วยความสงบ มักใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น รัศมี (ushnisha) และจีวรที่มีริ้วหนา โดยพระพุทธรูปเหล่านี้มักทำจากหินทรายสีแดงหรือดินเหนียว พระพุทธรูปมถุราที่พบในเมืองมถุรา ประเทศอินเดีย เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความงามและความละเอียดในการแกะสลัก
- พระพุทธรูปแบบอมราวดี (Amravati)
คือ พระพุทธรูปที่มีความโดดเด่นในด้านการใช้ภาพเล่าเรื่อง (narrative relief) ซึ่งแสดงถึงเหตุการณ์ในชีวิตของพระพุทธเจ้า เช่น การตรัสรู้และการแสดงธรรม พระพุทธรูปเหล่านี้มักทำจากหินอ่อนหรือหินทราย และมีการแกะสลักอย่างละเอียดเพื่อสร้างภาพเล่าเรื่อง สถูปอมราวดีเป็นตัวอย่างสำคัญของศิลปะแบบนี้ ที่มีการสร้างภาพแกะสลักที่บอกเล่าเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา
ด้านนาฏศิลป์และดนตรี
นาฏศิลป์และดนตรี ถือเป็นศาสตร์ชั้นสูงในวัฒนธรรมอินเดีย และมีการใช้ในพิธีกรรมเพื่อบูชาพระเจ้า ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม เช่น
- นาฏศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับการฟ้อนรำ มีต้นกำเนิดจากราชสำนัก, ศาสนสถาน และคนในท้องถิ่น เช่น ภารตะนาฏยัมซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการฟ้อนรำที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย
- ดนตรี จะแบ่งเป็นดนตรีที่ใช้ในพิธีทางศาสนา, ดนตรีในราชสำนัก และดนตรีท้องถิ่น โดยมีเครื่องดนตรีสำคัญ คือ วีณา หรือ พิณ, เวณุ หรือ ขลุ่ย และกลอง
ด้านวรรณกรรม
วรรณกรรมในอารยธรรมอินเดียมักมีความเกี่ยวข้องกับศาสนา โดยเริ่มจากบทสวดและการท่องจำสืบต่อกันมาแบบมุขปาฐะ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
- วรรณกรรมภาษาพระเวท ประกอบด้วย ฤคเวท, ยชุรเวท, สามเวท และอถรรพเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
- วรรณกรรมตันติสันสกฤต มักเป็นร้อยกรองที่เรียกว่า “โศลก” โดยมีวรรณกรรมเด่น คือ มหาภารตะ, รามายณะ และศกุนตลา
- วรรณกรรมสันสกฤตผสม ใช้เขียนหลักธรรมทางพุทธศาสนา เช่น พุทธจริต
- วรรณกรรมภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาบาลี ใช้เขียนหลักธรรมทางศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท เช่น พระไตรปิฎก
ด้านภาษาศาสตร์
ชาวอินเดียให้ความสำคัญกับการศึกษาภาษาอย่างมาก โดยมีการประพันธ์หนังสือศัพทานุกรม (โกศะ) ขึ้นหลายเล่ม ในสมัยสุลต่านเดลี ชาวมุสลิมได้นำภาษาเปอร์เซีย, อาหรับ, ตุรกี, ฮินดี และสันสกฤตมาผสมกัน ก่อให้เกิดภาษาใหม่คือ “ภาษาอูรดู” ซึ่งเป็นภาษาที่ชาวมุสลิมในอินเดียใช้สื่อสารกันในปัจจุบัน
ด้านการแพทย์
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สันนิษฐานได้ว่าอารยธรรมอินเดียมีความก้าวหน้าด้านการแพทย์มานานแล้ว และยังมีหนังสือหลายเล่มที่กล่าวถึงวิชาการแพทย์ เช่น “อายุรเวท” ที่เน้นเรื่องการรักษาและการใช้สมุนไพร รวมถึงวิธีการรักษาที่หลากหลาย
ด้านดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ และคณิตศาสตร์
ทั้งสามศาสตร์นี้เรียกรวมกันว่า “ชโยติษ” ซึ่งมีความสำคัญในการดูฤกษ์ยามสำหรับการประกอบพิธีกรรม โดยต้องใช้ศาสตร์นี้ในการคำนวณตำแหน่งของดวงดาวต่าง ๆ นอกจากนี้ ชาวอินเดียยังเป็นผู้คิดค้นเลขศูนย์ ซึ่งนำไปสู่การสร้างระบบตัวเลขที่มีหลักหน่วย สิบ ร้อย และพัน ที่ใช้ในการคำนวณอีกด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้าง หวังว่าหลังอ่านบทความนี้แล้ว น้อง ๆ จะได้ความรู้และเข้าใจเรื่อง “อารยธรรมอินเดีย” มากขึ้นนะ
ส่วนใครที่กำลังมองหาที่ติวตัวต่อตัว หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็มาปรึกษาพี่ TUTOR VIP ได้นะ พี่ ๆ ยินดีให้คำปรึกษาเสมอ
บทความต่อไป TUTOR VIP จะมาแนะนำอะไรอีกนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ
ด้วยความร่วมมือของ TUTOR-VIP X Clearnote Thailand
บทความล่าสุด
สังคมและประวัติศาสตร์
สรุปรวม “ศาสนาสำคัญของโลก” ที่ต้องรู้!
สังคมและประวัติศาสตร์
รากฐานแห่ง“อารยธรรมอินเดีย” อารยธรรมที่ส่งต่อถึงปัจจุบัน
สังคมและประวัติศาสตร์
“อารยธรรมโรมัน” อารยธรรมที่ทรงอิทธิพลถึงปัจจุบัน