สวัสดีทุกคน บทความนี้ พี่ TUTOR VIP จะพาน้อง ๆ มาทำความรู้จักกับสิ่งที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของชีวิตมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ “ศาสนา” นั่นเอง จะมีศาสนาใดบ้างตามไปทำความเข้าใจแต่ละศาสนาไปพร้อม ๆ กันเลย!
ศาสนา คืออะไร?
ศาสนา (Religion) ในภาษาอังกฤษมาจากภาษาลาติน “religio” ซึ่งแปลว่า “ผูกพัน” หรือ “สัมพันธ์” หมายถึง ความผูกพันระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ซึ่งแสดงออกโดยการมอบศรัทธาต่อพระเจ้าด้วยความเคารพยำเกรง เช่น
-
- เชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลกและสรรพสิ่ง
- เชื่อว่าพระเจ้ากำหนดคำสอนด้านศีลธรรมและกฎหมาย
- เชื่อคำสอนของพระเจ้าโดยไม่ต้องพิสูจน์
- อุทิศตนให้แก่พระเจ้า
ส่วนคำว่า “ศาสนา” ในภาษาไทยมาจากคำว่า “ศาสน” ในภาษาสันสกฤต และคำว่า “สาสน” ในภาษาบาลี ซึ่งแปลว่า “คำสั่งสอน” หรือ “การปกครอง” โดยอาจตีความได้ว่า
-
- คำสั่งสอน ให้อยู่ในศีลธรรมอันดี รักษา “ศีล” หรือ “วินัย” โดยมุ่งเน้นการทำความดีที่เรียกว่า “ธรรม” รวมกันเป็น “ศีลธรรม”
- การปกครอง หมายถึง การปกครองจิตใจของตน ให้ทำแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงามอยู่เสมอ
ความสำคัญและประโยชน์ของศาสนา
ความสำคัญและประโยชน์ของศาสนามีดังนี้
- สร้างระเบียบความประพฤติของประชาชนในสังคมให้ไปในทิศทางเดียวกัน
- เป็นที่พึ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ
- เป็นแหล่งกำเนิดจริยธรรม ทำให้ประชาชนในสังคมประพฤติตนในแนวทางที่ถูกต้อง
- เป็นแหล่งกำเนิดศิลปะ และวัฒนธรรม
- สอนให้มนุษย์เป็นอิสระจากการครอบงำของความอยากได้อยากมี
- สอนให้มนุษย์รู้จักควบคุมจิตใจตัวเองไม่ให้ทำชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
- ช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข
เป็นต้น
ศาสนาสำคัญของโลก
บนโลกนี้มีศาสนาต่าง ๆ มากมาย โดยในบทความนี้จะพูดถึง 4 ศาสนาหลักที่มีผู้นับถือมากทั้งในโลกและในประเทศไทย ดังนี้
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ศาสนาพราหมณ์–ฮินดู มีต้นกำเนิดในอินเดีย และมีอายุยาวนานกว่าพุทธศาสนาประมาณ 900 ถึง 1,000 ปี นับเป็นหนึ่งในศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาศาสนาที่ผู้คนยังคงนับถืออยู่ในปัจจุบัน โดยมีลักษณะเด่นคือการนับถือเทพเจ้าหลายองค์ (พหุเทวนิยม)
ศาสดา
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าใครคือศาสดาหรือผู้เผยแพร่คำสอนของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
โดยศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กำเนิดขึ้นจากความเชื่อของชาวอารยันที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ และมีการนำมาผสมผสานกับความเชื่อท้องถิ่นทำให้เกิดการพัฒนาทางศาสนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เทพเจ้า
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นศาสนาแบบพหุเทวนิยมนับถือเทพเจ้าหลายองค์ โดยเชื่อว่าเทพเจ้ามีความรู้สึก รัก, โกรธ, เกลียด เช่นเดียวกับมนุษย์ และยังสามารถบันดาลคุณและโทษให้กับมนุษย์ได้อีกด้วย ทำให้มนุษย์รู้สึกยำเกรงและต้องหาวิธีเอาใจเทพเจ้า ก่อให้เกิดพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การสวดสรรเสริญเทพเจ้า, การบูชายัญ เป็นต้น
โดยมีเทพเจ้าหลักสามองค์ ได้แก่
- พระพรหม (Brahma) คือ เทพเจ้าผู้สร้างโลก
- พระวิษณุ (Vishnu) คือ เทพเจ้าผู้พิทักษ์คุ้มครองโลก
- พระศิวะ (Shiva) คือ เทพเจ้าผู้ทำลายโลก (ทำลายเพื่อกวาดล้างความชั่ว)
คัมภีร์ทางศาสนา
คัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู คือ “คัมภีร์พระเวท” แบ่งออกเป็น 4 คัมภีร์ ได้แก่
- ฤคเวท คือ บทร้อยกรองสำหรับสวดสรรเสริญเทพเจ้าในพิธีกรรมบูชายัญ
- ยชุรเวท คือ มีทั้งบทร้องกรองสำหรับสวดสรรเสริญเทพเจ้า และบทร้อยแก้วว่าด้วยระเบียบพิธีในการประกอบพิธีกรรม
- สามเวท คือ บทร้อยกรองสำหรับสวดในพิธีถวายน้ำโสมแด่พระอินทร์ และสวดสรรเสริญเทพเจ้าองค์อื่น
- อถรรพเวท คือ คัมภีร์รวบรวมคาถาอาคมเวทมนตร์ต่าง ๆ
ระบบวรรณะ
ในคัมภีร์พระเวทได้แบ่งคนในสังคมออกเป็น 4 วรรณะ ได้แก่
- วรรณะพราหมณ์ คือ ผู้ประกอบพิธีทางศาสนา เชื่อว่ากำเนิดมาจากปากของพระพรหม
- วรรณะกษัตริย์ คือ ผู้นำรัฐทำหน้าที่ปกป้องประชาชน เชื่อว่ากำเนิดมาจากหน้าอกของพระพรหม
- วรรณะแพศย์ คือ ผู้ประกอบอาชีพพาณิชยกรรม, เกษตรกรรม ซึ่งเป็นวรรณะส่วนใหญ่ของคนในสังคม เชื่อว่ากำเนิดมาจากมือของพระพรหม
- วรรณะศูทร คือ กรรมกร เชื่อว่ากำเนิดมาจากเท้าของพระพรหม
หากมีการแต่งงานข้ามวรรณะ บุตรที่เกิดมาจะกลายเป็น “จัณฑาล” ซึ่งเป็นที่รังเกียจของคนในสังคม
จุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนา
จุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู คือการบรรลุ “โมกษะ” คือการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป เพราะเชื่อว่าการเวียนว่ายตายเกิดคือความทุกข์
นิกายต่าง ๆ
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีนิกายที่สำคัญ ดังนี้
- นิกายไวษณพ คือ นิกายที่นับถือพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ เป็นเทพเจ้าสูงสุด ทรงเป็นผู้สร้างโลกและทุกสรรพสิ่ง
- นิกายไศวะ คือ นิกายที่นับถือพระศิวะ เป็นเทพเจ้าสูงสุด ทรงเป็นผู้สร้างโลกและทุกสรรพสิ่ง
- นิกายพรหม คือ นิกายที่นับถือพระพรหม เป็นเทพเจ้าสูงสุด ทรงเป็นผู้สร้างโลกและทุกสรรพสิ่ง
- นิกายศักติ คือ นิกายที่บูชาเทพีหรือพระเทวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระแม่อุมาเทวี ซึ่งเป็นพระมเหสีของพระศิวะ นิกายนี้เน้นการเคารพบูชาเทพีในหลายรูปแบบ เช่น พระแม่กาลีและพระแม่ทุรคา ซึ่งแสดงถึงพลังและความสามารถของสตรีในฐานะที่เป็นพลังสร้างสรรค์และทำลาย
ศาสนาพุทธ
ศาสนาพุทธมีต้นกำเนิดในอินเดียเมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อน เป็นศาสนาแบบอเทวนิยมที่ไม่เชื่อในพระเจ้าผู้สร้าง แต่เน้นการปฏิบัติธรรมเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์และการเวียนว่ายตายเกิด
ศาสดา
ศาสดาของศาสนาพุทธ คือ “พระโคตมพุทธเจ้า” ซึ่งมีพระนามเดิมว่า “เจ้าชายสิทธัตถะ”พระองค์ประสูติในดินแดนชมพูทวีปเมื่อประมาณ 2,500 ปีที่แล้ว และเป็นผู้ก่อตั้งศาสนาพุทธ โดยพระองค์ได้ตรัสรู้และเผยแผ่หลักคำสอนที่สำคัญเกี่ยวกับการหลุดพ้นจากทุกข์และการดำเนินชีวิตที่ดีงาม
คัมภีร์ทางศาสนา
คัมภีร์ของศาสนาพุทธ คือ “พระไตรปิฎก” แปลว่า “ตะกร้า 3 ใบ” แบ่งออกเป็น 3 คัมภีร์ ได้แก่
- พระวินัยปิฎก คือ คัมภีร์ว่าด้วยวินัยหรือศีลของพระสงฆ์ ซึ่งมีข้อกำหนดและระเบียบในการประพฤติตนของภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
- พระสุตตันตปิฎก คือ คัมภีร์ว่าด้วยพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าและพระสาวกสำคัญที่แสดงธรรมแก่บุคคลต่าง ๆ ในโอกาสต่าง ๆ และแบ่งออกเป็นหลายหมวดหมู่
- พระอภิธรรมปิฎก คือ คัมภีร์ว่าด้วยการอธิบายหลักธรรมในเชิงวิชาการ โดยมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์และอธิบายหลักธรรมอย่างละเอียด
จุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนา
จุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนาพุทธ คือการบรรลุ “นิพพาน” คือ การดับสิ้นจากกิเลสและเรื่องเศร้าหมองทั้งปวง รวมถึงการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
หลักธรรมสำคัญ
ไตรลักษณ์ หมายถึง ลักษณะสามัญ 3 ประการของสรรพสิ่ง ประกอบด้วย
- อนิจจตา คือ ความไม่เที่ยงหรือความไม่คงที่ ทุกสิ่งในโลกมีการเปลี่ยนแปลงและไม่มีอะไรที่ยั่งยืน เช่น ชีวิตของมนุษย์ที่เกิดขึ้น เติบโต และเสื่อมสลาย
- ทุกขตา คือ ความเป็นทุกข์ ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ ทุกสิ่งมีความบกพร่องและไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดความทุกข์ในชีวิต
- อนัตตา คือ ความไม่มีตัวตน หรือการไม่มีสิ่งใดที่เป็น “เรา” หรือ “ของเรา” ตามแนวคิดของพระพุทธศาสนา ไม่มีอะไรที่สามารถถือว่าเป็นตัวตนที่แท้จริงได้
การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไป ทุกสิ่งในโลกนี้ ล้วนแล้วอยู่ใน กฎไตรลักษณ์
นิกายต่าง ๆ
ศาสนาพุทธ มีนิกายที่สำคัญ 2 นิกาย ดังนี้
- นิกายเถรวาท คือ นิกายดั้งเดิมที่รักษาธรรมวินัยต่าง ๆ ไว้โดยไม่เปลี่ยนแปลง
- นิกายอาจาริยวาท หรือ มหายาน คือ นิกายที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งผสมผสานคำสอนจากหลายแหล่งและสามารถปรับเปลี่ยนธรรมวินัยได้ มีแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ซึ่งมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือผู้อื่นให้หลุดพ้นจากทุกข์
ศาสนาคริสต์
ศาสนาคริสต์ถือกำเนิดในดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในตะวันออกกลางของทวีปเอเชีย และแพร่ขยายไปยังยุโรปในภายหลัง ศาสนานี้มีรากฐานมาจากศาสนายูดาย และเป็นศาสนาเอกเทวนิยม โดยนับถือพระเจ้าองค์เดียวซึ่งถูกเรียกขานว่า “พระบิดา” ในคำสอนของพระเยซูคริสต์
ศาสดา
ศาสดาของศาสนาคริสต์ คือ “พระเยซู” พระองค์ประสูติในเมืองเบธเลเฮม และเริ่มเผยแพร่คำสอนเมื่อมีอายุประมาณ 30 ปี โดยมีสาวก 12 คนช่วยเผยแพร่คำสอนเกี่ยวกับความรัก ความเมตตา และการให้อภัย พระเยซูทรงถูกจับกุมและประหารชีวิตบนไม้กางเขน ซึ่งถือเป็นการไถ่บาปแทนมนุษย์ การสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนชีพของพระองค์เป็นเหตุการณ์สำคัญในศาสนาคริสต์ และเป็นพื้นฐานของความเชื่อที่ว่าพระเยซูทรงนำเสนอวิธีการหลุดพ้นจากบาปและได้รับชีวิตนิรันดร์
คัมภีร์ทางศาสนา
คัมภีร์ของศาสนาคริสต์ คือ “คัมภีร์ไบเบิล” แบ่งออกเป็น 2 ภาค ได้แก่
- พระคัมภีร์เก่า หรือ พันธสัญญาเดิม (The Old Testament) คือ คัมภีร์ของศาสนายิวซึ่งเป็นรากฐานของพระคัมภีร์ใหม่ ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง พระเจ้าทรงสร้างโลก, ประวัติชนชาติยิว, บัญญัติ 10 ประการ และศาสดาพยากรณ์
- พระคัมภีร์ใหม่ หรือ พันธสัญญาใหม่ (The New Testament) คือ คัมภีร์ของศาสนาคริสต์โดยเฉพาะ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซูและพระอัครสาวกต่าง ๆ ซึ่งเขียนโดยนักบุญที่สำคัญ เช่น มัธธิว (Mathew), ยอร์น (John), ลูกา (Luke)
จุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนา
จุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนาคริสต์คือการได้อยู่อย่างเป็นสุขในอาณาจักรพระเจ้า ซึ่งชาวคริสต์เชื่อว่าเกิดขึ้นทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหลังความตาย อาณาจักรพระเจ้ามีความหมายหลายอย่าง รวมถึงอาณาจักรบนสวรรค์และอาณาจักรที่มีอยู่ในโลกนี้ผ่านทางศาสนจักร ซึ่งเป็นชุมชนของผู้เชื่อที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซู
หลักธรรมสำคัญ
ความเชื่อในหลักตรีเอกานุภาพ
เชื่อว่า ตรีเอกานุภาพ ซึ่งประกอบด้วย พระบิดา (พระเจ้า), พระบุตร (พระเยซู) และพระจิต (พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าที่เสด็จมาประทับในใจผู้ศรัทธา) คือพระเจ้าองค์เดียวกันแม้จะมีพระนามและพระฐานะต่างกัน
หลักความรัก
ในศาสนาคริสต์ ความรักถือเป็นหลักคำสอนที่สำคัญที่สุด แบ่งเป็น
- ความรักระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า เป็นการแสดงออกถึงการศรัทธาและการเคารพพระเจ้า
- ความรักระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ พระเยซูได้สอนให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง และถือเป็นคำสั่งสำคัญในการดำเนินชีวิต พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างแห่งความรัก โดยทรงยอมเสียสละชีวิตเพื่อไถ่บาปให้กับมนุษย์
นิกายต่าง ๆ
ศาสนาคริสต์ มีนิกายที่สำคัญ 3 นิกาย ดังนี้
- 1. นิกายโรมันคาทอลิก
-
- มีกรุงโรมเป็นศูนย์กลางของศาสนา (ปัจจุบันอยู่ในนครรัฐวาติกัน)
- มีพระสันตปาปาเป็นประมุขสูงสุดของศาสนจักร
- เชื่อว่าตนเป็นผู้สืบทอดคำสอนดั้งเดิมและพยายามปกป้องคำสอนและประเพณีดั้งเดิมอย่างเคร่งครัด
- มีการยกย่องนักบุญ
- มีการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ 7 ประการ คือ ศีลล้างบาป, ศีลกำลัง, ศีลมหาสนิท, ศีลแก้บาป, ศีลเจิมคนไข้, ศีลบวช และศีลสมรส
- มีนักบวช ซึ่งไม่สามารถสมรสได้
- 2. นิกายออร์ธอดอกซ์
-
- แยกตัวออกจากนิกายโรมันคาทอลิกด้วยเหตุผลทางการเมือง
- ไม่ขึ้นตรงต่อพระสันตปาปา แต่จะมีประมุขของแต่ละประเทศเรียกว่า “เพทริอาค”
- ในด้านหลักธรรมคำสอนแทบไม่ต่างจากโรมันคาทอลิกแต่จะต่างกันในรูปแบบพิธีกรรม, ภาษา และการจัดระเบียบปกครองสงฆ์
- ไม่ยกย่องนักบุญ ภาพเคารพมักเป็นภาพโมเสด
- มีการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ 7 ประการ
- มีนักบวช และนักบวชชั้นผู้น้อยสามารถสมรสได้
- 3. นิกายโปรแตสแตนท์
-
- แยกตัวออกจากนิกายโรมันคาทอลิกเนื่องจากความขัดแย้งทางหลักธรรมคำสอน
- การจัดการบริหารของแต่ละประเทศเป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อพระสันตปาปา หรือประมุข
- ไม่เชื่อว่าบาทหลวงสามารถอภัยบาปได้ การสารภาพบาปสามารถทำได้เองโดยการสารภาพต่อพระเจ้าเป็นหมู่คณะ
- ไม่ยกย่องนักบุญ และไม่บูชารูปเคารพใด ๆ ไม้กางเขนของนิกายนี้จะไม่มีรูปพระเยซูถูกตรึงบนไม้กางเขน
- ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์เพียง 2 ศีล คือ ศีลล้างบาป และศีลมหาสนิท
ศาสนาอิสลาม
ศาสนาอิสลาม คือ ศาสนาที่วิวัฒนาการจากศาสนายิวและศาสนาคริสต์ เกิดขึ้นในประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อน ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจะเรียกว่า “มุสลิม” เป็นศาสนาแบบเอกเทวนิยม มีพระเจ้าสูงสุดคือ “พระอัลลอฮ์” ชาวมุสลิมเชื่อว่า พระอัลลอฮ์เป็นผู้สร้าง ผู้ค้ำจุน และผู้ฟื้นฟูโลกมนุษย์
ศาสดา
ศาสดาของศาสนาอิสลาม คือ “นบีมูฮัมมัด” โดยชาวมุสลิมเชื่อว่าท่านได้รับการแต่งตั้งจากพระอัลลอฮ์ ให้เป็นศาสดาคนสุดท้ายเพื่อนำคำสอนของพระเจ้าไปเผยแพร่ นบีมูฮัมมัดประสูติในเมืองมักกะฮ์ (Mecca) ประเทศซาอุดีอาระเบียปัจจุบัน เมื่อปี ค.ศ. 570 และได้รับวิวรณ์ครั้งแรกจากพระเจ้าผ่านทูตสวรรค์ญิบรออิล (Gabriel) เมื่ออายุ 40 ปี
คำสอนของนบีมูฮัมมัดได้รับการบันทึกไว้ใน “คัมภีร์อัลกุรอาน” ซึ่งเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ ท่านยังได้วางรากฐานหลักศาสนาอิสลาม (เช่น หลักปฏิบัติ 5 ประการ หรือ “อิหม่าน”) ที่เป็นแก่นสำคัญของศาสนาอิสลามในปัจจุบัน
คัมภีร์ทางศาสนา
คัมภีร์ของศาสนาอิสลาม คือ “คัมภีร์อัลกุรอาน” เป็นคัมภีร์ที่พระอัลลอฮ์ประทานให้แก่นบีมูฮัมมัด ผ่านทางศาสนทูต คัมภีร์อัลกุรอานเป็นพระวจนะของพระอัลลอฮ์ที่ตรัสแก่มนุษย์ เป็นพระประสงค์ของพระองค์และเป็นธรรมนูญของชีวิต ชาวมุสลิมถือว่าสิ่งที่ปรากฏในคัมภีร์เป็นความจริงที่บริสุทธิ์ ไม่มีใครสามารถสงสัยหรือดัดแปลงแก้ไขได้
หลักธรรมสำคัญ
หลักศรัทธา
หลักศรัทธาของศาสนาอิสลามประกอบด้วย 6 ประการ ดังนี้
- ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ เชื่อในพระเจ้าองค์เดียวที่ไม่มีภาคี
- ศรัทธาต่อมลาอิกะฮ์ เชื่อในเทวฑูตของพระเจ้า
- ศรัทธาต่อคัมภีร์ เชื่อในคัมภีร์ที่พระเจ้าได้ประทานให้แก่ศาสดามูฮัมมัด
- ศรัทธาต่อบรรดาเราะซูล เชื่อในศาสนทูตของพระเจ้า โดยเฉพาะนบีมูฮัมมัดซึ่งเป็นศาสดาสุดท้าย
- ศรัทธาต่อวันกิยามะฮ์ เชื่อในวันสิ้นโลกและการฟื้นคืนชีพ
- ศรัทธาต่อกอฎอกอดัร เชื่อในการกำหนดความดีและความชั่วที่พระเจ้าได้ตั้งไว้ ซึ่งไม่สามารถฝ่าฝืนหรือเปลี่ยนแปลงได้
หลักปฏิบัติ
หลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามประกอบด้วย 5 ประการ ดังนี้
- ชะฮาดะฮ์ (Shahadah) คือ การปฏิญาณตนโดยเปล่งวาจายอมรับความเชื่อว่ามีพระเจ้าองค์เดียวคืออัลลอฮ์ และมูฮัมมัดเป็นศาสดาของพระองค์
- ศอลาต (Salah) คือ การทำละหมาด 5 เวลา คือ เช้าตรู่, บ่าย, เย็น, ช่วงพระอาทิตย์ตกดิน และในเวลาค่ำ ของทุกวัน เพื่อสรรเสริญพระอัลลอฮ์
- ซะกาต (Zakat) คือ การบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะการให้เงินช่วยเหลือแก่คนจน
- ซิยาม (Sawm) คือ การถืออดอาหารในเดือนรอมฎอน เพื่อให้เกิดความอดทนทางร่างกายและความเข้มแข็งทางจิตใจ ให้นึกถึงคนยากจนที่อดอาหารและจะได้ช่วยเหลือผู้ที่ขัดสน
- ฮัจญ์ (Hajj) คือ การไปแสวงบุญที่นครมักกะห์อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต หากมีความพร้อมด้านร่างกายและทุนทรัพย์เพียงพอ
นิกายต่าง ๆ
ศาสนาอิสลาม มี 2 นิกาย ดังนี้
- นิกายซุนนี ชาวมุสลิมนิกายนี้ถือว่าตนเองเป็นผู้เคร่งครัดในแนวทางปฏิบัติตามคัมภีร์อัลกุรอานและตามวจนะของท่านศาสดา รวมทั้งให้ความเคารพเชื่อถือต่อคอลีฟะฮ์ หรือผู้สืบตำแหน่งต่อจากท่านศาสดา ชาวซุนนีให้ความเคารพนับถือผู้นำทางศาสนา 4 คนแรก คือ อะบูบักร์, อุมัร, อุษมาน และอะลี ชาวมุสลิมในไทยและชาวมุสลิมส่วนใหญ่ทั่วโลกนับถือนิกายนี้
- นิกายชีอะฮ์ เป็นกลุ่มที่แยกตัวออกมา เพราะมีความเห็นว่าผู้นำทางศาสนาควรเป็นทายาทของท่านนบีมูฮัมมัด นิกายนี้จึงนับถือคอลีฟะฮ์องค์ที่ 4 คือ “อะลี” ว่าเป็นคอลีฟะฮ์ที่ถูกต้องแต่เพียงผู้เดียว ชาวชีอะฮ์ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในอิรัก, อิหร่าน, เยเมน, อินเดีย และแอฟริกาตะวันออก
เป็นอย่างไรกันบ้าง หวังว่าหลังอ่านบทความนี้แล้ว น้อง ๆ จะได้เข้าใจศาสนาในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกและได้เห็นถึงความหลากหลายของความเชื่อและวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คนในแต่ละพื้นที่กันมากขึ้นนะ
การศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ช่วยให้เรามีความเข้าใจที่ดีขึ้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความเคารพและความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ทั่วโลกอีกด้วย
สำหรับใครที่กำลังมองหาที่ติวตัวต่อตัว หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็มาปรึกษาพี่ TUTOR VIP ได้นะ พี่ ๆ ยินดีให้คำปรึกษาเสมอ
บทความต่อไป TUTOR VIP จะมาแนะนำอะไรอีกนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ
ด้วยความร่วมมือของ TUTOR-VIP X Clearnote Thailand
บทความล่าสุด
สังคมและประวัติศาสตร์
สรุปรวม “ศาสนาสำคัญของโลก” ที่ต้องรู้!
สังคมและประวัติศาสตร์
รากฐานแห่ง“อารยธรรมอินเดีย” อารยธรรมที่ส่งต่อถึงปัจจุบัน
สังคมและประวัติศาสตร์
“อารยธรรมโรมัน” อารยธรรมที่ทรงอิทธิพลถึงปัจจุบัน