สวัสดีนะทุกคน บทความนี้พี่ TUTOR VIP จะมาสรุป “อักษรสูงกลางต่ำ และการผันวรรณยุกต์” ซึ่งเป็นพื้นฐานภาษาไทยที่สำคัญมาก ถ้าพร้อมแล้วตามไปดูในบทความนี้กันเลย!
เลือกอ่านเนื้อหาที่ต้องการ
อักษรสามหมู่ หรือไตรยางศ์คืออะไร?
“อักษรสามหมู่” หรือ “ไตรยางศ์” คือ การแบ่งพยัญชนะไทยออกตามระดับเสียงการผันวรรณยุกต์ของพยัญชนะแต่ละตัว โดยแบ่งเป็น 3 หมู่ ได้แก่
- อักษรสูง มี 11 ตัว คือ ข, ฃ, ฉ, ฐ, ถ, ผ, ฝ, ศ, ส, ษ, ห
- อักษรกลาง มี 9 ตัว คือ ก, จ, ฎ, ฏ, ด, ต, บ, ป, อ
- อักษรต่ำ มี 24 ตัว คือ ค, ต, ฆ, ง, ช, ซ, ฌ, ญ,
ฑ, ฒ, ณ, ท, ธ, น, พ, ฟ,
ภ, ม, ย, ร, ล, ว, ฬ, ฮ
อักษรสูง อักษรกลาง และอักษรต่ำมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ตามไปดูหน้าต่อไปกันเลย
อักษรสูง คืออะไร?
อักษรสูง คือ พยัญชนะกลุ่มหนึ่งที่มีรูปปกติเป็นเสียงสูงทั้งหมด อักษรสูงมีทั้งหมด 11 ตัว ได้แก่ ข, ฃ, ฉ, ฐ, ถ, ผ, ฝ, ศ, ส, ษ และ ห
เคล็ดในการท่องจำอักษรสูงให้แม่น คือ ผีเศรษฐีฝากถุงข้าวสารให้ฉัน ถอดพยัญชนะต้นแต่ละพยางค์ได้เป็น ผ, ศ, ฐ, ฝ, ถ, ข, ส, ห, ฉ (แล้วเพิ่ม ฃ, ษ)
โดยอักษรสูงสามารถผันวรรณยุกต์ได้ 3 เสียง คือ เอก, โท และจัตวา ในกรณีที่เป็นคำเป็น และผันวรรณยุกต์ได้ 2 เสียง คือ เอก และ โท ในกรณีที่เป็นคำตาย
คำเป็น คำตาย
- คำเป็น คือ คำที่ประสมกับตัวสะกด แม่ กง, กน, กม, เกย และเกอว หรือคำที่ประสมกับสระเสียงยาวในแม่ ก กา หรือประสมกับสระ อำ, ไอ, ใอ, เอา เช่น แม่ค้า, ผัดฉ่า, เสี่ยงทาย, ขาไก่ เป็นต้น
- คำตาย คือ คำที่ประสมกับตัวสะกด แม่ กก, กด, กบ หรือประสมกับสระเสียงสั้นในแม่ ก กา (ไม่นับสระ อำ, ไอ, ใอ, เอา) เช่น ริบหรี่, นะคะ, ของฝาก, เฉียบขาด เป็นต้น
อักษรกลาง คืออะไร?
อักษรกลาง คือ พยัญชนะกลุ่มหนึ่งที่มีเสียงอยู่ในระดับกลาง อักษรกลางมีทั้งหมด 9 ตัว ได้แก่ ก, จ, ฎ, ฏ, ด, ต, บ, ป และ อ
เคล็ดในการท่องจำอักษรกลางให้แม่น คือ ไก่ จิก เด็ก ตาย เด็ก ตาย บน ปาก โอ่ง
โดยอักษรกลางมีพื้นเสียงเป็นเสียงสามัญสามารถผันวรรณยุกต์ได้ 5 เสียง คือ สามัญ, เอก, โท, ตรี และจัตวา เช่น กา, ก่า, ก้า, ก๊า, ก๋า เป็นต้น
อักษรต่ำ คืออะไร?
อักษรต่ำ คือ พยัญชนะกลุ่มหนึ่งที่มีเสียงต่ำทั้งหมด อักษรต่ำมีทั้งหมด 24 ตัว ได้แก่
ค, ฅ, ฆ, ง, ช, ซ, ฌ, ญ,
ฑ, ฒ, ณ, ท, ธ, น, พ, ฟ,
ภ, ม, ย, ร, ล, ว, ฬ, ฮ
โดยได้มีการแบ่งอักษรต่ำย่อยมาอีก 2 ประเภท คือ
- อักษรต่ำเดี่ยว อักษรต่ำที่ไม่มีเสียงคู่กับอักษรสูง มี 10 ตัว ได้แก่ ง, ญ, น, ร, ย, ณ, ว, ม, ฬ และ ล
มีเคล็ดลับในการจำคือ งูใหญ่นอนรออยู่ ณ วัดโมฬีโลก
2. อักษรต่ำคู่ คือ อักษรต่ำที่มีเสียงคู่กับอักษรสูง มี 14 ตัว ได้แก่ ช, ค, ภ, ซ, พ, ท, ธ, ฮ, ฟ, ฅ, ฆ, ฌ, ฑ และ ฒ
มีเคล็ดลับในการจำคือ โชคภูโซ พุทโธ ไฮไฟ ถอดพยัญชนะต้นแต่ละพยางค์ได้เป็น ช, ค, ภ, ซ, พ, ท, ธ, ฮ, ฟ (แล้วเพิ่ม ฅ, ฆ, ฌ, ฑ, ฒ)
โดยอักษรต่ำสามารถผันวรรณยุกต์ได้ 3 เสียง คือ สามัญ, โท, และตรี ในกรณีที่เป็นคำเป็น และผันวรรณยุกต์ได้ 2 เสียง คือ โท และ ตรี ในกรณีที่เป็นคำตาย
การผันวรรณยุกต์ คืออะไร?
การผันวรรณยุกต์ คือ การเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์ของพยางค์ที่ประกอบด้วยพยัญชนะต้นกับสระ หรือพยัญชนะต้นกับสระและตัวสะกดใส่รูปวรรณยุกต์ต่างกันตามที่ปรากฏเป็นพยางค์ในภาษาไทย โดยวรรณยุกต์จะทำหน้าที่ช่วยให้พยัญชนะและสระที่ประสมกันเกิดเสียงสูงต่ำทำให้เกิดคำต่าง ๆ มากขึ้น
ในการผันเสียงวรรณยุกต์เพื่อแยกความหมายคำ น้อง ๆ จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่องอักษรสามหมู่ และเรื่องคำเป็น คำตาย มาบ้าง
วรรณยุกต์จะมีทั้งหมด 5 เสียง และ 4 รูป ได้แก่ เสียงสามัญ (ไม่มีรูป), เสียงเอก (่), เสียงโท (้), เสียงตรี (๊) และเสียงจัตวา (๋)
การผันวรรณยุกต์ในอักษรสูงกลางต่ำ
การผันวรรณยุกต์อักษรสูง สามารถผันวรรณยุกต์ได้ 3 เสียง คือ เอก, โท และจัตวา ในกรณีที่เป็นคำเป็น
และผันวรรณยุกต์ได้ 2 เสียง คือ เอก และ โท ในกรณีที่เป็นคำตาย
การผันวรรณยุกต์อักษรกลาง สามารถผันวรรณยุกต์ได้ 5 เสียง คือ สามัญ, เอก, โท, ตรี และจัตวา เช่น กา, ก่า, ก้า, ก๊า, ก๋า เป็นต้น
การผันวรรณยุกต์อักษรต่ำ สามารถผันวรรณยุกต์ได้ 3 เสียง คือ สามัญ, โท, และตรี ในกรณีที่เป็นคำเป็น
และผันวรรณยุกต์ได้ 2 เสียง คือ โท และ ตรี ในกรณีที่เป็นคำตาย
เป็นอย่างไรกันบ้างเอ่ย อาจดูเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่ถ้าค่อย ๆ อ่านทำความเข้าใจ พี่เชื่อว่าน้อง ๆ จะต้องจำได้แม่นอย่างแน่นอน
สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่กำลังมองหาที่เรียนพิเศษ หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็มาปรึกษาพี่ TUTOR VIP ได้นะ พี่ ๆ ยินดีให้คำปรึกษาเสมอ
บทความต่อไป TUTOR VIP จะมีสาระอะไรมาฝากอีกนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ
ด้วยความร่วมมือของ TUTOR-VIP X Clearnote Thailand
บทความล่าสุด
สังคมและประวัติศาสตร์
สรุปพุทธประวัติแบบกระชับ!
สังคมและประวัติศาสตร์
สรุปรวม “ศาสนาสำคัญของโลก” ที่ต้องรู้!
สังคมและประวัติศาสตร์
รากฐานแห่ง“อารยธรรมอินเดีย” อารยธรรมที่ส่งต่อถึงปัจจุบัน