สรุปรวม “ศาสนาสำคัญของโลก” ที่ต้องรู้!

สรุปรวมศาสนาสำคัญของโลกที่ต้องรู้

     สวัสดีทุกคน บทความนี้ พี่ TUTOR VIP จะพาน้อง ๆ มาทำความรู้จักกับสิ่งที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของชีวิตมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ “ศาสนา” นั่นเอง จะมีศาสนาใดบ้างตามไปทำความเข้าใจแต่ละศาสนาไปพร้อม ๆ กันเลย!

ศาสนาคืออะไร

ศาสนา คืออะไร?

    ศาสนา (Religion)  ในภาษาอังกฤษมาจากภาษาลาติน “religio” ซึ่งแปลว่า “ผูกพัน” หรือ “สัมพันธ์” หมายถึง ความผูกพันระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ซึ่งแสดงออกโดยการมอบศรัทธาต่อพระเจ้าด้วยความเคารพยำเกรง   เช่น    

    • เชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลกและสรรพสิ่ง
    • เชื่อว่าพระเจ้ากำหนดคำสอนด้านศีลธรรมและกฎหมาย  
    • เชื่อคำสอนของพระเจ้าโดยไม่ต้องพิสูจน์ 
    • อุทิศตนให้แก่พระเจ้า 

    ส่วนคำว่า “ศาสนา” ในภาษาไทยมาจากคำว่า “ศาสน” ในภาษาสันสกฤต และคำว่า “สาสน” ในภาษาบาลี ซึ่งแปลว่า “คำสั่งสอน” หรือ “การปกครอง” โดยอาจตีความได้ว่า

    • คำสั่งสอน ให้อยู่ในศีลธรรมอันดี รักษา “ศีล” หรือ “วินัย” โดยมุ่งเน้นการทำความดีที่เรียกว่า “ธรรม” รวมกันเป็น “ศีลธรรม”
    • การปกครอง หมายถึง การปกครองจิตใจของตน ให้ทำแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงามอยู่เสมอ



ความสำคัญและประโยชน์ของศาสนา

ความสำคัญและประโยชน์ของศาสนา

    ความสำคัญและประโยชน์ของศาสนามีดังนี้ 

  • สร้างระเบียบความประพฤติของประชาชนในสังคมให้ไปในทิศทางเดียวกัน
  • เป็นที่พึ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ
  • เป็นแหล่งกำเนิดจริยธรรม ทำให้ประชาชนในสังคมประพฤติตนในแนวทางที่ถูกต้อง
  • เป็นแหล่งกำเนิดศิลปะ และวัฒนธรรม
  • สอนให้มนุษย์เป็นอิสระจากการครอบงำของความอยากได้อยากมี
  • สอนให้มนุษย์รู้จักควบคุมจิตใจตัวเองไม่ให้ทำชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
  • ช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข

เป็นต้น

 

ศาสนาสำคัญของโลก

    บนโลกนี้มีศาสนาต่าง ๆ มากมาย โดยในบทความนี้จะพูดถึง 4 ศาสนาหลักที่มีผู้นับถือมากทั้งในโลกและในประเทศไทย ดังนี้

 

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

    ศาสนาพราหมณ์–ฮินดู มีต้นกำเนิดในอินเดีย และมีอายุยาวนานกว่าพุทธศาสนาประมาณ 900 ถึง 1,000 ปี นับเป็นหนึ่งในศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาศาสนาที่ผู้คนยังคงนับถืออยู่ในปัจจุบัน โดยมีลักษณะเด่นคือการนับถือเทพเจ้าหลายองค์ (พหุเทวนิยม)

 

ศาสดา

    จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าใครคือศาสดาหรือผู้เผยแพร่คำสอนของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

   โดยศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กำเนิดขึ้นจากความเชื่อของชาวอารยันที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ และมีการนำมาผสมผสานกับความเชื่อท้องถิ่นทำให้เกิดการพัฒนาทางศาสนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

เทพเจ้า

    ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นศาสนาแบบพหุเทวนิยมนับถือเทพเจ้าหลายองค์ โดยเชื่อว่าเทพเจ้ามีความรู้สึก รัก, โกรธ, เกลียด เช่นเดียวกับมนุษย์ และยังสามารถบันดาลคุณและโทษให้กับมนุษย์ได้อีกด้วย ทำให้มนุษย์รู้สึกยำเกรงและต้องหาวิธีเอาใจเทพเจ้า ก่อให้เกิดพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การสวดสรรเสริญเทพเจ้า, การบูชายัญ เป็นต้น

โดยมีเทพเจ้าหลักสามองค์ ได้แก่ 

  1. พระพรหม (Brahma) คือ เทพเจ้าผู้สร้างโลก
  2. พระวิษณุ (Vishnu) คือ เทพเจ้าผู้พิทักษ์คุ้มครองโลก
  3. พระศิวะ (Shiva) คือ เทพเจ้าผู้ทำลายโลก (ทำลายเพื่อกวาดล้างความชั่ว)

 

คัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

คัมภีร์ทางศาสนา

        คัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู คือ “คัมภีร์พระเวท” แบ่งออกเป็น 4 คัมภีร์ ได้แก่

  1. ฤคเวท คือ บทร้อยกรองสำหรับสวดสรรเสริญเทพเจ้าในพิธีกรรมบูชายัญ
  2. ยชุรเวท คือ มีทั้งบทร้องกรองสำหรับสวดสรรเสริญเทพเจ้า และบทร้อยแก้วว่าด้วยระเบียบพิธีในการประกอบพิธีกรรม
  3. สามเวท คือ บทร้อยกรองสำหรับสวดในพิธีถวายน้ำโสมแด่พระอินทร์ และสวดสรรเสริญเทพเจ้าองค์อื่น
  4. อถรรพเวท คือ คัมภีร์รวบรวมคาถาอาคมเวทมนตร์ต่าง ๆ 



การแบ่งวรรณะ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ระบบวรรณะ

    ในคัมภีร์พระเวทได้แบ่งคนในสังคมออกเป็น 4 วรรณะ ได้แก่

  1. วรรณะพราหมณ์ คือ ผู้ประกอบพิธีทางศาสนา เชื่อว่ากำเนิดมาจากปากของพระพรหม
  2. วรรณะกษัตริย์ คือ ผู้นำรัฐทำหน้าที่ปกป้องประชาชน  เชื่อว่ากำเนิดมาจากหน้าอกของพระพรหม
  3. วรรณะแพศย์ คือ ผู้ประกอบอาชีพพาณิชยกรรม, เกษตรกรรม ซึ่งเป็นวรรณะส่วนใหญ่ของคนในสังคม เชื่อว่ากำเนิดมาจากมือของพระพรหม
  4. วรรณะศูทร คือ กรรมกร เชื่อว่ากำเนิดมาจากเท้าของพระพรหม

หากมีการแต่งงานข้ามวรรณะ บุตรที่เกิดมาจะกลายเป็น “จัณฑาล” ซึ่งเป็นที่รังเกียจของคนในสังคม

 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนา

     จุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู คือการบรรลุ “โมกษะ” คือการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป เพราะเชื่อว่าการเวียนว่ายตายเกิดคือความทุกข์

นิกายต่างๆในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

นิกายต่าง ๆ

    ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีนิกายที่สำคัญ ดังนี้

  • นิกายไวษณพ คือ นิกายที่นับถือพระวิษณุ หรือพระนารายณ์ เป็นเทพเจ้าสูงสุด ทรงเป็นผู้สร้างโลกและทุกสรรพสิ่ง
  • นิกายไศวะ คือ นิกายที่นับถือพระศิวะ เป็นเทพเจ้าสูงสุด  ทรงเป็นผู้สร้างโลกและทุกสรรพสิ่ง
  • นิกายพรหม คือ  นิกายที่นับถือพระพรหม เป็นเทพเจ้าสูงสุด  ทรงเป็นผู้สร้างโลกและทุกสรรพสิ่ง
  • นิกายศักติ คือ  นิกายที่บูชาเทพีหรือพระเทวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระแม่อุมาเทวี ซึ่งเป็นพระมเหสีของพระศิวะ นิกายนี้เน้นการเคารพบูชาเทพีในหลายรูปแบบ เช่น พระแม่กาลีและพระแม่ทุรคา ซึ่งแสดงถึงพลังและความสามารถของสตรีในฐานะที่เป็นพลังสร้างสรรค์และทำลาย



 

ศาสนาพุทธ

ศาสนาพุทธ

    ศาสนาพุทธมีต้นกำเนิดในอินเดียเมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อน เป็นศาสนาแบบอเทวนิยมที่ไม่เชื่อในพระเจ้าผู้สร้าง แต่เน้นการปฏิบัติธรรมเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์และการเวียนว่ายตายเกิด

 

ศาสดา

    ศาสดาของศาสนาพุทธ คือ “พระโคตมพุทธเจ้า” ซึ่งมีพระนามเดิมว่า “เจ้าชายสิทธัตถะ”พระองค์ประสูติในดินแดนชมพูทวีปเมื่อประมาณ 2,500 ปีที่แล้ว และเป็นผู้ก่อตั้งศาสนาพุทธ โดยพระองค์ได้ตรัสรู้และเผยแผ่หลักคำสอนที่สำคัญเกี่ยวกับการหลุดพ้นจากทุกข์และการดำเนินชีวิตที่ดีงาม

คัมภีร์ของศาสนาพุทธ

คัมภีร์ทางศาสนา

    คัมภีร์ของศาสนาพุทธ คือ “พระไตรปิฎก” แปลว่า “ตะกร้า 3 ใบ” แบ่งออกเป็น 3 คัมภีร์ ได้แก่

  1. พระวินัยปิฎก คือ คัมภีร์ว่าด้วยวินัยหรือศีลของพระสงฆ์ ซึ่งมีข้อกำหนดและระเบียบในการประพฤติตนของภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
  2. พระสุตตันตปิฎก คือ คัมภีร์ว่าด้วยพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าและพระสาวกสำคัญที่แสดงธรรมแก่บุคคลต่าง ๆ ในโอกาสต่าง ๆ และแบ่งออกเป็นหลายหมวดหมู่
  3. พระอภิธรรมปิฎก คือ คัมภีร์ว่าด้วยการอธิบายหลักธรรมในเชิงวิชาการ โดยมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์และอธิบายหลักธรรมอย่างละเอียด

 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนา

    จุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนาพุทธ คือการบรรลุ “นิพพาน” คือ การดับสิ้นจากกิเลสและเรื่องเศร้าหมองทั้งปวง รวมถึงการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ

หลักธรรมสำคัญ

ไตรลักษณ์ หมายถึง ลักษณะสามัญ 3 ประการของสรรพสิ่ง ประกอบด้วย

  1. อนิจจตา คือ ความไม่เที่ยงหรือความไม่คงที่ ทุกสิ่งในโลกมีการเปลี่ยนแปลงและไม่มีอะไรที่ยั่งยืน เช่น ชีวิตของมนุษย์ที่เกิดขึ้น เติบโต และเสื่อมสลาย
  2. ทุกขตา คือ ความเป็นทุกข์ ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ ทุกสิ่งมีความบกพร่องและไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดความทุกข์ในชีวิต
  3. อนัตตา คือ ความไม่มีตัวตน หรือการไม่มีสิ่งใดที่เป็น “เรา” หรือ “ของเรา” ตามแนวคิดของพระพุทธศาสนา ไม่มีอะไรที่สามารถถือว่าเป็นตัวตนที่แท้จริงได้

    การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไป ทุกสิ่งในโลกนี้ ล้วนแล้วอยู่ใน กฎไตรลักษณ์

 

นิกายต่างๆในศาสนาพุทธ

นิกายต่าง ๆ

    ศาสนาพุทธ มีนิกายที่สำคัญ 2 นิกาย ดังนี้

  1. นิกายเถรวาท คือ นิกายดั้งเดิมที่รักษาธรรมวินัยต่าง ๆ ไว้โดยไม่เปลี่ยนแปลง
  2. นิกายอาจาริยวาท หรือ มหายาน คือ นิกายที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งผสมผสานคำสอนจากหลายแหล่งและสามารถปรับเปลี่ยนธรรมวินัยได้ มีแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ซึ่งมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือผู้อื่นให้หลุดพ้นจากทุกข์

 

ศาสนาคริสต์

ศาสนาคริสต์

    ศาสนาคริสต์ถือกำเนิดในดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในตะวันออกกลางของทวีปเอเชีย และแพร่ขยายไปยังยุโรปในภายหลัง ศาสนานี้มีรากฐานมาจากศาสนายูดาย และเป็นศาสนาเอกเทวนิยม โดยนับถือพระเจ้าองค์เดียวซึ่งถูกเรียกขานว่า “พระบิดา” ในคำสอนของพระเยซูคริสต์

 

ศาสดา

    ศาสดาของศาสนาคริสต์ คือ “พระเยซู” พระองค์ประสูติในเมืองเบธเลเฮม และเริ่มเผยแพร่คำสอนเมื่อมีอายุประมาณ 30 ปี โดยมีสาวก 12 คนช่วยเผยแพร่คำสอนเกี่ยวกับความรัก ความเมตตา และการให้อภัย พระเยซูทรงถูกจับกุมและประหารชีวิตบนไม้กางเขน ซึ่งถือเป็นการไถ่บาปแทนมนุษย์ การสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนชีพของพระองค์เป็นเหตุการณ์สำคัญในศาสนาคริสต์ และเป็นพื้นฐานของความเชื่อที่ว่าพระเยซูทรงนำเสนอวิธีการหลุดพ้นจากบาปและได้รับชีวิตนิรันดร์

คัมภีร์ของศาสนาคริสต์

คัมภีร์ทางศาสนา

    คัมภีร์ของศาสนาคริสต์ คือ “คัมภีร์ไบเบิล” แบ่งออกเป็น 2 ภาค ได้แก่

  1. พระคัมภีร์เก่า หรือ พันธสัญญาเดิม (The Old Testament) คือ คัมภีร์ของศาสนายิวซึ่งเป็นรากฐานของพระคัมภีร์ใหม่ ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง พระเจ้าทรงสร้างโลก, ประวัติชนชาติยิว, บัญญัติ 10 ประการ และศาสดาพยากรณ์
  2. พระคัมภีร์ใหม่ หรือ พันธสัญญาใหม่ (The New Testament) คือ คัมภีร์ของศาสนาคริสต์โดยเฉพาะ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซูและพระอัครสาวกต่าง ๆ ซึ่งเขียนโดยนักบุญที่สำคัญ เช่น มัธธิว (Mathew), ยอร์น (John), ลูกา (Luke)

 

จุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนา

    จุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนาคริสต์คือการได้อยู่อย่างเป็นสุขในอาณาจักรพระเจ้า ซึ่งชาวคริสต์เชื่อว่าเกิดขึ้นทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหลังความตาย อาณาจักรพระเจ้ามีความหมายหลายอย่าง รวมถึงอาณาจักรบนสวรรค์และอาณาจักรที่มีอยู่ในโลกนี้ผ่านทางศาสนจักร ซึ่งเป็นชุมชนของผู้เชื่อที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซู

หลักธรรมสำคัญของศาสนาคริสต์

หลักธรรมสำคัญ

ความเชื่อในหลักตรีเอกานุภาพ

​​    เชื่อว่า ตรีเอกานุภาพ ซึ่งประกอบด้วย พระบิดา (พระเจ้า), พระบุตร (พระเยซู) และพระจิต (พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าที่เสด็จมาประทับในใจผู้ศรัทธา) คือพระเจ้าองค์เดียวกันแม้จะมีพระนามและพระฐานะต่างกัน

หลักความรัก

    ในศาสนาคริสต์ ความรักถือเป็นหลักคำสอนที่สำคัญที่สุด แบ่งเป็น 

  1. ความรักระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า เป็นการแสดงออกถึงการศรัทธาและการเคารพพระเจ้า 
  2. ความรักระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ พระเยซูได้สอนให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง และถือเป็นคำสั่งสำคัญในการดำเนินชีวิต พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างแห่งความรัก โดยทรงยอมเสียสละชีวิตเพื่อไถ่บาปให้กับมนุษย์




นิกายต่างในศาสนาคริสต์

นิกายต่าง ๆ

    ศาสนาคริสต์ มีนิกายที่สำคัญ 3 นิกาย ดังนี้

  • 1. นิกายโรมันคาทอลิก 
    • มีกรุงโรมเป็นศูนย์กลางของศาสนา (ปัจจุบันอยู่ในนครรัฐวาติกัน)
    • มีพระสันตปาปาเป็นประมุขสูงสุดของศาสนจักร
    • เชื่อว่าตนเป็นผู้สืบทอดคำสอนดั้งเดิมและพยายามปกป้องคำสอนและประเพณีดั้งเดิมอย่างเคร่งครัด
    • มีการยกย่องนักบุญ
    • มีการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ 7 ประการ คือ ศีลล้างบาป, ศีลกำลัง, ศีลมหาสนิท, ศีลแก้บาป, ศีลเจิมคนไข้, ศีลบวช และศีลสมรส
    • มีนักบวช ซึ่งไม่สามารถสมรสได้
  • 2. นิกายออร์ธอดอกซ์ 
    • แยกตัวออกจากนิกายโรมันคาทอลิกด้วยเหตุผลทางการเมือง
    • ไม่ขึ้นตรงต่อพระสันตปาปา แต่จะมีประมุขของแต่ละประเทศเรียกว่า “เพทริอาค”
    • ในด้านหลักธรรมคำสอนแทบไม่ต่างจากโรมันคาทอลิกแต่จะต่างกันในรูปแบบพิธีกรรม, ภาษา และการจัดระเบียบปกครองสงฆ์
    • ไม่ยกย่องนักบุญ ภาพเคารพมักเป็นภาพโมเสด
    • มีการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ 7 ประการ
    • มีนักบวช และนักบวชชั้นผู้น้อยสามารถสมรสได้
  • 3. นิกายโปรแตสแตนท์ 
    • แยกตัวออกจากนิกายโรมันคาทอลิกเนื่องจากความขัดแย้งทางหลักธรรมคำสอน 
    • การจัดการบริหารของแต่ละประเทศเป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อพระสันตปาปา หรือประมุข 
    • ไม่เชื่อว่าบาทหลวงสามารถอภัยบาปได้ การสารภาพบาปสามารถทำได้เองโดยการสารภาพต่อพระเจ้าเป็นหมู่คณะ
    • ไม่ยกย่องนักบุญ และไม่บูชารูปเคารพใด ๆ ไม้กางเขนของนิกายนี้จะไม่มีรูปพระเยซูถูกตรึงบนไม้กางเขน
    • ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์เพียง 2 ศีล คือ ศีลล้างบาป และศีลมหาสนิท

 

ศาสนาอิสลาม

ศาสนาอิสลาม

    ศาสนาอิสลาม คือ ศาสนาที่วิวัฒนาการจากศาสนายิวและศาสนาคริสต์ เกิดขึ้นในประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อน ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจะเรียกว่า “มุสลิม” เป็นศาสนาแบบเอกเทวนิยม มีพระเจ้าสูงสุดคือ “พระอัลลอฮ์” ชาวมุสลิมเชื่อว่า พระอัลลอฮ์เป็นผู้สร้าง ผู้ค้ำจุน และผู้ฟื้นฟูโลกมนุษย์

 

ศาสดา

    ศาสดาของศาสนาอิสลาม คือ “นบีมูฮัมมัด” โดยชาวมุสลิมเชื่อว่าท่านได้รับการแต่งตั้งจากพระอัลลอฮ์ ให้เป็นศาสดาคนสุดท้ายเพื่อนำคำสอนของพระเจ้าไปเผยแพร่ นบีมูฮัมมัดประสูติในเมืองมักกะฮ์ (Mecca) ประเทศซาอุดีอาระเบียปัจจุบัน เมื่อปี ค.ศ. 570 และได้รับวิวรณ์ครั้งแรกจากพระเจ้าผ่านทูตสวรรค์ญิบรออิล (Gabriel) เมื่ออายุ 40 ปี

    คำสอนของนบีมูฮัมมัดได้รับการบันทึกไว้ใน “คัมภีร์อัลกุรอาน” ซึ่งเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ ท่านยังได้วางรากฐานหลักศาสนาอิสลาม (เช่น หลักปฏิบัติ 5 ประการ หรือ “อิหม่าน”) ที่เป็นแก่นสำคัญของศาสนาอิสลามในปัจจุบัน

คัมภีร์ของศาสนาอิสลาม

คัมภีร์ทางศาสนา

    คัมภีร์ของศาสนาอิสลาม คือ “คัมภีร์อัลกุรอาน” เป็นคัมภีร์ที่พระอัลลอฮ์ประทานให้แก่นบีมูฮัมมัด ผ่านทางศาสนทูต คัมภีร์อัลกุรอานเป็นพระวจนะของพระอัลลอฮ์ที่ตรัสแก่มนุษย์ เป็นพระประสงค์ของพระองค์และเป็นธรรมนูญของชีวิต ชาวมุสลิมถือว่าสิ่งที่ปรากฏในคัมภีร์เป็นความจริงที่บริสุทธิ์ ไม่มีใครสามารถสงสัยหรือดัดแปลงแก้ไขได้

หลักธรรมสำคัญในศาสนาอิสลาม

หลักธรรมสำคัญ

หลักศรัทธา 

    หลักศรัทธาของศาสนาอิสลามประกอบด้วย 6 ประการ ดังนี้

  1. ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ เชื่อในพระเจ้าองค์เดียวที่ไม่มีภาคี
  2. ศรัทธาต่อมลาอิกะฮ์ เชื่อในเทวฑูตของพระเจ้า
  3. ศรัทธาต่อคัมภีร์ เชื่อในคัมภีร์ที่พระเจ้าได้ประทานให้แก่ศาสดามูฮัมมัด
  4. ศรัทธาต่อบรรดาเราะซูล เชื่อในศาสนทูตของพระเจ้า โดยเฉพาะนบีมูฮัมมัดซึ่งเป็นศาสดาสุดท้าย
  5. ศรัทธาต่อวันกิยามะฮ์ เชื่อในวันสิ้นโลกและการฟื้นคืนชีพ
  6. ศรัทธาต่อกอฎอกอดัร เชื่อในการกำหนดความดีและความชั่วที่พระเจ้าได้ตั้งไว้ ซึ่งไม่สามารถฝ่าฝืนหรือเปลี่ยนแปลงได้

 

หลักปฏิบัติ 

    หลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามประกอบด้วย 5 ประการ ดังนี้

  1. ชะฮาดะฮ์ (Shahadah) คือ การปฏิญาณตนโดยเปล่งวาจายอมรับความเชื่อว่ามีพระเจ้าองค์เดียวคืออัลลอฮ์ และมูฮัมมัดเป็นศาสดาของพระองค์
  2. ศอลาต (Salah) คือ การทำละหมาด 5 เวลา คือ เช้าตรู่, บ่าย, เย็น, ช่วงพระอาทิตย์ตกดิน และในเวลาค่ำ ของทุกวัน เพื่อสรรเสริญพระอัลลอฮ์
  3. ซะกาต (Zakat) คือ การบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะการให้เงินช่วยเหลือแก่คนจน
  4. ซิยาม (Sawm) คือ การถืออดอาหารในเดือนรอมฎอน เพื่อให้เกิดความอดทนทางร่างกายและความเข้มแข็งทางจิตใจ ให้นึกถึงคนยากจนที่อดอาหารและจะได้ช่วยเหลือผู้ที่ขัดสน
  5. ฮัจญ์ (Hajj) คือ การไปแสวงบุญที่นครมักกะห์อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต หากมีความพร้อมด้านร่างกายและทุนทรัพย์เพียงพอ

 

นิกายต่างๆในศาสนาอิสลาม

นิกายต่าง ๆ

    ศาสนาอิสลาม มี 2 นิกาย ดังนี้

  1. นิกายซุนนี ชาวมุสลิมนิกายนี้ถือว่าตนเองเป็นผู้เคร่งครัดในแนวทางปฏิบัติตามคัมภีร์อัลกุรอานและตามวจนะของท่านศาสดา รวมทั้งให้ความเคารพเชื่อถือต่อคอลีฟะฮ์ หรือผู้สืบตำแหน่งต่อจากท่านศาสดา ชาวซุนนีให้ความเคารพนับถือผู้นำทางศาสนา 4 คนแรก คือ อะบูบักร์, อุมัร, อุษมาน และอะลี ชาวมุสลิมในไทยและชาวมุสลิมส่วนใหญ่ทั่วโลกนับถือนิกายนี้
  2. นิกายชีอะฮ์ เป็นกลุ่มที่แยกตัวออกมา เพราะมีความเห็นว่าผู้นำทางศาสนาควรเป็นทายาทของท่านนบีมูฮัมมัด นิกายนี้จึงนับถือคอลีฟะฮ์องค์ที่ 4 คือ “อะลี” ว่าเป็นคอลีฟะฮ์ที่ถูกต้องแต่เพียงผู้เดียว ชาวชีอะฮ์ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในอิรัก, อิหร่าน, เยเมน, อินเดีย และแอฟริกาตะวันออก



 

      เป็นอย่างไรกันบ้าง หวังว่าหลังอ่านบทความนี้แล้ว น้อง ๆ จะได้เข้าใจศาสนาในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกและได้เห็นถึงความหลากหลายของความเชื่อและวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คนในแต่ละพื้นที่กันมากขึ้นนะ 

    การศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ช่วยให้เรามีความเข้าใจที่ดีขึ้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความเคารพและความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ทั่วโลกอีกด้วย 

    สำหรับใครที่กำลังมองหาที่ติวตัวต่อตัว หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็มาปรึกษาพี่ TUTOR VIP ได้นะ พี่ ๆ ยินดีให้คำปรึกษาเสมอ


   บทความต่อไป TUTOR VIP จะมาแนะนำอะไรอีกนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ

 

ด้วยความร่วมมือของ TUTOR-VIP X Clearnote Thailand

 

สนใจเรียนพิเศษประวัติศาสตร์ตัวต่อตัว ติดต่อได้ที่👇

Line logo LINE ID: @tutorvip หรือคลิ๊ก https://lin.ee/UQ3gQwP
 
ดูอัตราค่าเรียนพิเศษได้ที่ : https://tutor-vip.com/course/learning-price/
 

บทความล่าสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save