สวัสดีทุกคน บทความนี้ พี่ TUTOR VIP จะพาไปศึกษาพระราชประวัติของ “พระเจ้าอู่ทอง” ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ราชธานีเก่าของไทยที่ยิ่งใหญ่ยาวนานกว่า 4 ศตวรรษ ถ้าพร้อมแล้วตามไปศึกษาพร้อมกันในบทความเลย
ประวัติส่วนพระองค์
พระเจ้าอู่ทอง หรือที่รู้จักในพระนามราชาภิเษกว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเป็นกษัตริย์ผู้สถาปนาอาณาจักรอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 1893 และทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อู่ทอง พระองค์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการวางรากฐานด้านการปกครอง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลางอำนาจและความรุ่งเรือง
เกี่ยวกับพระนามเดิมของพระองค์นั้น มีการกล่าวถึงในหลายแหล่ง เช่น “เจ้าวรเชษฐกุมาร” หรือ “พระวรเชษฐ” อย่างไรก็ตาม ภายหลังเมื่อทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ทรงใช้พระนามว่า “สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1” ซึ่งเป็นพระนามที่ปรากฏในพงศาวดารหลายฉบับ
ในด้านเชื้อสายและภูมิหลังของพระองค์นั้น ยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีข้อสันนิษฐานหลายแนวทาง ได้แก่
-
- จดหมายเหตุลาลูแบร์ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ระบุว่าพระเจ้าอู่ทองอพยพมาจากเชียงแสน
- จดหมายเหตุวันวลิตระบุว่าทรงอพยพมาจากเมืองเพชรบุรี
- ชินกาลมาลีปกรณ์และพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ว่าพระเจ้าอู่ทองมาจากละโว้
พงศาวดารบางฉบับระบุว่า พระเจ้าอู่ทองเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 1857 แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่มีหลักฐานร่วมสมัยที่สามารถยืนยันวันพระราชสมภพได้อย่างแน่ชัด
พระองค์ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีใหม่เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล จุลศักราช 712 (ตรงกับ พ.ศ. 1893) ซึ่งเป็นวันที่มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย
มีตำนานเล่าว่า ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา พระองค์ประทับอยู่ที่เมืองอู่ทอง (ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี) แต่เมื่อเกิดโรคระบาดอย่างรุนแรง จึงตัดสินพระทัยย้ายราชธานีมายังบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน
ภายหลังจากการสถาปนา พระเจ้าอู่ทองทรงจัดระเบียบการปกครอง วางรากฐานของระบบราชการ และแต่งตั้งขุนนางและพระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพให้แก่อาณาจักรใหม่ของพระองค์ โดยถือเป็นการเริ่มต้นระบอบการปกครองของกรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีอิทธิพลต่อราชอาณาจักรไทยในยุคต่อมา
พระราชกรณียกิจและผลงานสำคัญ
-
การสถาปนากรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง ได้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล จุลศักราช 712 ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1893 โดยหลังจากทรงขึ้นครองราชย์ ได้รับพระนามว่า “สมเด็จพระรามาธิบดี” จากนั้นโปรดให้ขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระมเหสี ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าและปกครองเมืองสุพรรณบุรี ส่วนพระราเมศวร รัชทายาท ได้รับมอบหมายให้ไปปกครองเมืองลพบุรี
-
การสงครามกับเขมร
ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระองค์ทรงดำเนินนโยบายสร้างสัมพันธไมตรีกับรัฐต่าง ๆ รวมถึงอาณาจักรขอม (กัมพูชา) อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจในกัมพูชาโดยนายแตงหวานซึ่งเป็นชนชั้นแรงงานขึ้นครองราชย์ในนามพระบาทตระซ็อกประแอม ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยาและกัมพูชาเริ่มเปลี่ยนแปลง
พระบรมลำพงศ์ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของอดีตกษัตริย์ขอมได้ขึ้นครองราชย์และแสดงท่าทีไม่เป็นมิตรต่ออยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงโปรดให้สมเด็จพระราเมศวรและสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ยกทัพไปตีเมืองกัมพูชา จนสามารถตีเมืองนครธมได้ พระบรมลำพงศ์สิ้นพระชนม์ในศึกครั้งนี้
-
การตรากฎหมาย
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงประกาศใช้กฎหมายสำคัญหลายฉบับในรัชสมัยของพระองค์ เช่น
- กฎหมายลักษณะพยาน
- กฎหมายลักษณะอาญาหลวง
- กฎหมายลักษณะรับฟ้อง
- กฎหมายลักษณะลักพา
- กฎหมายลักษณะอาญาราษฎร์
- กฎหมายลักษณะโจร
- กฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน
- กฎหมายลักษณะผัวเมีย
- กฎหมายลักษณะโจรว่าด้วยโจร
เป็นต้น
โดยบางแหล่งข้อมูลระบุว่ามีการตรากฎหมายมากกว่านี้ แต่หลักฐานที่ปรากฏมีเพียงเท่านี้
-
การศาสนา
พระองค์ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง ทรงโปรดให้สร้างวัดสำคัญหลายแห่ง เช่น วัดพุทไธศวรรย์ (สร้างปี พ.ศ. 1876) วัดป่าแก้ว (สร้างปี พ.ศ. 1900) และวัดพระราม (สร้างปี พ.ศ. 1912) เพื่อเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและวัฒนธรรมของอาณาจักร
-
การสงครามกับสุโขทัย
รัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ตรงกับช่วงปลายของอาณาจักรสุโขทัยในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ขณะนั้นสุโขทัยเริ่มอ่อนแอลงและไม่สามารถต้านทานอำนาจที่เพิ่มขึ้นของอยุธยาได้
แม้พระมหาธรรมราชาลิไทจะเสด็จไปประทับที่สองแคว (พิษณุโลก) เพื่อเตรียมรับมือกับอยุธยา แต่ท้ายที่สุดได้มีการเจรจาประนีประนอมจนทำให้ทั้งสองอาณาจักรอยู่ในฐานะไมตรีต่อกันตลอดรัชกาล
-
การค้าขายและสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ
ในช่วงแรกของการสถาปนาอยุธยา การค้าขายกับชาติตะวันตกและญี่ปุ่นยังไม่เกิดขึ้น แต่มีการติดต่อค้าขายกับจีน แขก จาม ชวา มลายู อินเดีย เปอร์เซีย และลังกามาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับความสัมพันธ์กับจีน ราชวงศ์อู่ทองของไทยตรงกับราชวงศ์หมิงของจีน จักรพรรดิหงอู่แห่งราชวงศ์หมิงได้ส่งราชทูตหลุยจงจุ่น มาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา พระองค์จึงส่งราชทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนด้วย
ความสำคัญและมรดกที่พระองค์ทิ้งไว้
กรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนาเมื่อปี พ.ศ. 1893 ดำรงฐานะเป็นราชธานีของไทยยาวนานถึง 417 ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองทั้งหมด 33 พระองค์ จาก 5 ราชวงศ์ ได้แก่ ราชวงศ์อู่ทอง, ราชวงศ์สุพรรณภูมิ, ราชวงศ์สุโขทัย, ราชวงศ์ปราสาททอง และราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระเจ้าอู่ทองในฐานะ ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงวางรากฐานความมั่นคงของอาณาจักรทั้งในด้านการเมือง การปกครอง กฎหมาย เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานที่กษัตริย์ในราชวงศ์ต่อๆ มานำไปพัฒนาให้กรุงศรีอยุธยาก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจแห่งภูมิภาค
แม้พระราชประวัติของพระเจ้าอู่ทองจะยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับเชื้อสายและภูมิหลัง แต่พระองค์ยังคงได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย ทรงเป็นผู้วางรากฐานอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองและมีอิทธิพลต่อโครงสร้างทางการเมือง วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของชาติไทยในเวลาต่อมา
มรดกที่พระองค์ทรงทิ้งไว้ ไม่เพียงเป็นเพียงเมืองหลวงแห่งใหม่ แต่ยังเป็นระบบโครงสร้างของรัฐที่ทรงอำนาจ วัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ และแบบแผนการปกครองที่สืบเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน พระเจ้าอู่ทองจึงนับเป็นหนึ่งในผู้วางรากฐานความเป็นชาติไทยอย่างแท้จริง
เป็นอย่างไรกันบ้าง? หวังว่าหลังอ่านบทความนี้แล้ว น้อง ๆ จะได้รับรู้ถึงพระปรีชาสามารถของ “พระเจ้าอู่ทอง” กันมากขึ้นนะ
สำหรับใครที่กำลังมองหาที่ติวตัวต่อตัว หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็มาปรึกษาพี่ TUTOR VIP ได้นะ พี่ ๆ ยินดีให้คำปรึกษาเสมอ
บทความต่อไป TUTOR VIP จะมาแนะนำอะไรอีกนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ
ด้วยความร่วมมือของ TUTOR-VIP X Clearnote Thailand
บทความล่าสุด
สังคมและประวัติศาสตร์
สรุปประวัติ รัชกาลที่ 5 กับที่มาของวันปิยมหาราช 23 ตุลาคม
สังคมและประวัติศาสตร์
รัชกาลที่ 1: ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และกำเนิดกรุงรัตนโกสินทร์!
สังคมและประวัติศาสตร์
สมเด็จพระเจ้าตากสิน: ผู้กู้ชาติจากพม่า สู่การสร้างกรุงธนบุรี