Image by pch.vector on Freepik
ทำไมต้องเรียนวิชาสังคมศึกษา?
“มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” หลายๆคนคงคุ้นเคยกับประโยคนี้อย่างแน่นอน ซึ่งประโยคนี้เป็นแนวคิดของนักปรัชญายุคกรีกโบราณ อริสโตเติล (Aristotle) ที่เป็นผู้ให้คำนิยมของมนุษย์ไว้แบบนี้ เพราะว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้นจะอยู่อาศัยร่วมกันเป็นกลุ่ม มีสังคม ติดต่อสัมพันธ์ พึ่งพาอาศัย และทำกิจกรรมร่วมกันอยู่เสมอ ซึ่งการเรียนสังคมศึกษาจะทำให้เราสามารถเข้าใจการอยู่ร่วมกันของสังคมมนุษย์ที่ปรับตัวไปตามยุคสมัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมยุคนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
“Man is by nature a social animal; an individual who is unsocial naturally and not accidentally is either beneath our notice or more than human.”
Aristotle, Politics
แล้ววิชาสังคมศึกษา เรียนอะไรบ้าง?
โดยวิชาสังคมศึกษาในระดับ ประถมศึกษา – มัธยมศึกษา จะได้เรียนในหัวข้อต่างๆ ที่มีความยาก-ง่ายของเนื้อหาแตกต่างตามระดับชั้นเรียน อ้างอิงตามหลักสูตรแกนกลางฯ ของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้
1. ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม
แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม หลักธรรมของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ การนำหลักธรรมคำสอนไปปฏิบัติในการพัฒนาตนเอง และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เป็นผู้กระทำความดี มีค่านิยมที่ดีงาม พัฒนาตนเองอยู่เสมอ รวมทั้งบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวม
2. หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม
ระบบการเมืองการปกครองในสังคมปัจจุบันการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลักษณะและความสำคัญ การเป็นพลเมืองดี ความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อ ปลูกฝังค่านิยมด้านประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สิทธิ หน้าที่ เสรีภาพการดำเนินชีวิตอย่างสันติสุขในสังคมไทยและสังคมโลก
3. เศรษฐศาสตร์
การผลิต การแจกจ่าย และการบริโภคสินค้าและบริการ การบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ การดำรงชีวิตอย่างมีดุลยภาพ และการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน
4. ประวัติศาสตร์
เวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ วิธีการทางประวัติศาสตร์ พัฒนาการของมนุษยชาติจากอดีตถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์และเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่างๆ ผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์สำคัญในอดีต บุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆในอดีต ความเป็นมาของชาติไทย วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย แหล่งอารยธรรมที่สำคัญของโลก
5. ภูมิศาสตร์
ลักษณะของโลกทางกายภาพ ลักษณะทางกายภาพ แหล่งทรัพยากร และภูมิอากาศของประเทศไทย และภูมิภาคต่างๆ ของโลก การใช้แผนที่และเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ ความสัมพันธ์กันของสิ่งต่างๆ ในระบบธรรมชาติ ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น การนำเสนอข้อมูลภูมิสารสนเทศ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
บทความล่าสุด
สังคมและประวัติศาสตร์
สรุปลำดับราชวงศ์ของไทย
ภาษาไทย
สรุปหลักเกณฑ์คำทับศัพท์แบบเข้าใจง่าย
ภาษาไทย
ปูพื้นฐานความรู้ภาษาไทยเรื่อง คำราชาศัพท์