สวัสดีทุกคน บทความนี้พี่ TUTOR VIP จะมาสรุปเรื่อง “พันธะเคมี” ซึ่งเป็นหัวข้อพื้นฐานที่ทุกคนจะได้เจอกันในวิชาเคมี จะมีอะไรบ้างตามไปดูกันเลย
พันธะเคมี คืออะไร?
พันธะเคมี (Chemical Bond) คือ แรงยึดเหนี่ยวระหว่างอะตอมกับอะตอม หรือไอออนกับไอออนที่อยู่ในโมเลกุลหรือสารประกอบ เพื่อสร้างเสถียรภาพในระดับโมเลกุล จนเกิดเป็นสสารหรือโมเลกุลขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนในธรรมชาติ
พันธะเคมี แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่
- พันธะโลหะ (Metallic Bond)
- พันธะไอออนิก (Ionic Bond)
- พันธะโคเวเลนต์ (Covalent Bond)
พันธะแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ตามไปดูในหัวข้อถัดไปได้เลย
พันธะโลหะคืออะไร?
พันธะโลหะ (Metallic Bond) คือ แรงดึงดูดที่เกิดขึ้นระหว่างไอออนบวกที่เรียงชิดกันกับอิเล็กตรอนที่อยู่โดยรอบ อะตอมของโลหะจะมีสถานะเป็นบวกและใช้เวเลนซ์อิเล็กตรอนร่วมกัน โดยที่เวเลนซ์อิเล็กตรอนเหล่านี้จะเคลื่อนที่ไปรอบๆ ก้อนโลหะในรูปแบบของกลุ่มหมอกอิเล็กตรอน (electron cloud) ซึ่งเคลื่อนที่ตลอดเวลา ทำให้สามารถดึงดูดนิวเคลียสของอะตอมเหล่านั้นได้ และทำให้โลหะไม่มีสูตรโมเลกุล ที่เขียนกันเป็นสูตรอย่างง่าย หรือสัญลักษณ์ของธาตุ
คุณสมบัติของพันธะโลหะ
- นำความร้อนได้ดี
- นำไฟฟ้าได้
- รีดเป็นแผ่นได้ง่าย
- ดึงเป็นเส้นยาว ๆ ได้โดยไม่ขาดง่าย
- จุดหลอมเหลวสูง
- มีความเป็นมันวาว
- เชื่อมต่อกันได้
พันธะไอออนิกคืออะไร?
พันธะไอออนิก (Ionic Bond) คือ พันธะที่เกิดขึ้นจากแรงดึงดูดทางไฟฟ้าสถิตระหว่างไอออนบวก(cation) และไอออนลบ(anion) เนื่องจากการถ่ายโอนอิเล็กตรอนจากโลหะให้แก่อโลหะ โดยทั่วไปแล้วพันธะไอออนิกเป็นพันธะที่เกิดขึ้นระหว่างโลหะและอโลหะ ทั้งนี้เนื่องจากว่าโลหะมีค่าพลังงานไอออไนเซชัน(ionization energy)ต่ำ แต่อโลหะมีค่าสัมพรรคภาพอิเล็กตรอน(electron affinity)สูง ดังนั้นโลหะจึงมีแนวโน้มที่จะให้อิเล็กตรอน และอโลหะมีแนวโน้มที่จะรับอิเล็กตรอน
ตัวอย่างเช่น การเกิดพันธะไอออนิกระหว่างโซเดียม (Na) และคลอรีน (Cl) ในเกลือแกง (NaCl) โดยที่โซเดียมจะเสียอิเล็กตรอนและกลายเป็นไอออนบวก ส่วนคลอรีนจะรับอิเล็กตรอนและกลายเป็นไอออนลบ
เช่น เมื่อโลหะเสียอิเล็กตรอนก็จะกลายเป็นไอออนบวก
เช่น อโลหะเมื่อรับอิเล็กตรอนก็จะกลายเป็นไอออนลบ
คุณสมบัติของสารประกอบไอออนิก
- จุดหลอมเหลวและจุดเดือดสูง: เนื่องจากแรงดึงดูดไฟฟ้าสถิตระหว่างไอออนบวกและลบมีความแข็งแรงสูง ยากต่อการแยกออกจากกัน ทำให้การจะทำให้สารประกอบไอออนิกเปลี่ยนสถานะต้องใช้พลังงานจำนวนมากทำลายแรงยึดเหนี่ยว ส่งผลให้มีจุดหลอมเหลวและจุดเดือดที่สูง
- การละลายในน้ำ: สารประกอบไอออนิกมักละลายได้ดีในน้ำ เช่น เกลือไนเตรท และเกลือคลอไรด์
การนำไฟฟ้า: เมื่ออยู่ในสภาพหลอมเหลวหรือในสารละลาย สารประกอบไอออนิกจะสามารถนำไฟฟ้าได้ เพราะไอออนสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ
พันธะโคเวเลนต์คืออะไร?
พันธะโคเวเลนต์ (Covalent Bond) คือ พันธะที่เกิดขึ้นจากการที่อะตอมสองอะตอมนำอิเล็กตรอนมาใช้ร่วมกัน (โดยทั่วไปแล้วหมายถึงอะตอมของธาตุหมู่ IVA, VA, VIA และ VII )
โดยที่
- หากมีการใช้อิเล็กตรอนร่วมกัน 1 คู่ เรียกพันธะที่เกิดว่า พันธะเดี่ยว
- หากมีการใช้อิเล็กตรอนร่วมกัน 2 คู่ เรียกพันธะที่เกิดว่า พันธะคู่
- หากมีการใช้อิเล็กตรอนร่วมกัน 3 คู่ เรียกพันธะที่เกิดว่า พันธะสาม
พันธะโคเวเลนต์แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- พันธะโคเวเลนต์แบบไม่มีขั้ว คือ พันธะที่เกิดจากอะตอมทั้งสอง มีการใช้อิเล็กตรอนเท่าๆกัน (มีค่าอิเล็กโทรเนกาติวิตีหรือความสามารถในการดึงดูดอิเล็กตรอนเท่ากัน) และเมื่ออะตอมทั้งสองสร้างพันธะต่อกันแล้วอิเล็กตรอนจะเคลื่อนที่รอบ ๆ และใช้เวลากับอะตอมทั้งสองเท่าๆกัน
- พันธะโคเวเลนต์แบบมีขั้ว คือ การที่อะตอมทั้งสองมีการใช้อิเล็กตรอนร่วมกันแต่ไม่เท่ากัน นั่นคืออะตอมที่มีค่าอิเล็กโทรเนกาติวิตีสูงจะดึงอิเล็กตรอนเข้าหาตัวเองได้มากกว่า
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ และช่วยให้น้อง ๆ เข้าใจเรื่อง “พันธะเคมี” มากขึ้นนะ
ส่วนใครที่กำลังมองหาที่ติวเคมี หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็มาปรึกษาพี่ TUTOR VIP ได้นะ พี่ ๆ ยินดีให้คำปรึกษาเสมอ
บทความต่อไป TUTOR VIP จะมาแนะนำอะไรอีกนั้น ฝากติดตามกันด้วยนะ
ด้วยความร่วมมือของ TUTOR-VIP X Clearnote Thailand
บทความล่าสุด
สังคมและประวัติศาสตร์
“อารยธรรมโรมัน” อารยธรรมที่ทรงอิทธิพลถึงปัจจุบัน
สังคมและประวัติศาสตร์
สรุป ‘อารยธรรมกรีก’ อารยธรรมโบราณที่มีเสน่ห์
สังคมและประวัติศาสตร์
เจาะลึก ‘อารยธรรมอียิปต์’! อารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลก